ม.แม่ฟ้าหลวง จับมืออุตฯเชียงราย จัดแข่งไอเดียพัฒนาโปรดักส์จากวัตถุดิบท้องถิ่น หวังผลักดันสู่ตลาดจริง

ม.แม่ฟ้าหลวง จับมืออุตสาหกรรม จ.เชียงราย จัดแข่งไอเดียพัฒนาโปรดักส์จากวัตถุดิบท้องถิ่น หวังผลักดันออกสู่ตลาดจริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 กรกฎาคม 2560) ที่ห้องคำมอกหลวง อาคารเอ็มสแควร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย ดร.พนม วิญญายอง รองอธิการบดี มฟล. เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจัดขึ้นโดย มฟล.และสำนักงานอุตสาหกรรม จ.เชียงราย เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับต่าง ๆ และผู้ประกอบการในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วย เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน คิดค้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้มีมูลค่าจนถึงขั้นลงมือปฏิบัติจริง และประเมินความเป็นไปได้ในการนำนวัตกรรมดังกล่าวสู่ตลาดได้ โดยมีนักศึกษาระดับ ปวช.และ ปวส. จนถึงปริญญาตรีและผู้ประกอบการเข้าร่วม 74 ทีม

ดร.พนม วิญญายอง รองอธิการบดี มฟล. กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 มุ่งพัฒนาให้มีการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งในฐานะที่ มฟล.ได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษา จึงได้ร่วมกับอุตสาหกรรม จ.เชียงราย ดำเนินการพัฒนาการคิดค้นผลิตภัณฑ์อาหาร โดยเบื้องต้นจะลงลึกถึงระดับประถมศึกษาเพื่อให้มีการคิดค้นพัฒนาอาหารจากท้องถิ่นต่าง ๆ แต่เนื่องจากมีเวลาจำกัดจึงดำเนินการเฉพาะระดับ ปวช.ขึ้นไป โดยเน้นไปที่การให้พัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ เช่น ข้าว ชา กาแฟ และอาหารอื่น ๆ โดยให้ผู้เข้าร่วมคิดค้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นให้สามารถเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมการตลาดได้ จากนั้นจัดให้มีการประกวด ซึ่งหากผลิตภัณฑ์ใดสามารถนำเข้าสู่ตลาดได้จริง ก็จะให้กลับมาปรึกษาหารือกันเพื่อผลักดันออกสู่ตลาดต่อไป

ด้านอาจารย์การะเกด นันทศรีนนท์ รักษาการแทนหัวหน้าสำนักงานจัดการทรัพย์สินีทางปัญญาและพัฒนานวัตกรรม กล่าวว่า กิจกรรมตามโครงการดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภามคมที่ผ่านมา โดยมีการจัดการฝึกอบรมโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น อาจารย์จาก มฟล. ผู้ทรงคุณวุฒิจากซีพีออล์ ฯลฯ และจัดการแข่งขันไอเดีย ทู โปรดักส์ แบ่งเป็นผู้ประกอบการ 13 ทีม 14 ไอเดีย และทีมนักศึกษา 61 ทีม 69 ไอเดีย โดยมีคณะกรรมการดูแลการแข่งขัน กระทั่งมีการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระหว่างวันที่ 17-19 กรกฎาคมนี้ ซึ่งพบว่ามีผู้ที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศทั้งหมด 16 ทีม 18 ไอเดีย ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพภาพการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารในอนาคตได้ต่อไป

Advertisment

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าอีกว่า สำหรับกิจกรรมครั้งนี้พบว่าผู้เข้าร่วมได้คิดค้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดจากพืชหลักในพื้นที่อย่างหลากหลาย เช่น บางทีมมีการคิดค้านการนำชาอู่หลงมาผสมกับสารกาบาจากข้าวเพิ่มคุณค่า การนำเมลอนมาทำเป็นแยมโดยผสมกับถั่วดาวอินคาเพื่มเพิ่มคุณค่าอาหาร และแยมชนิดนี้มีปริมาณน้ำตาลน้อยและปลอดสารเคมี การใช้เทคนิคการทำให้ผักแห้งเย็นเพื่อให้ได้ผักที่เก็บได้นาน 6 เดือน สามารถนำมาแช่น้ำและปรุงได้โดยมีคุณค่าของพืชผักเหมือนเดิม โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือลูกค้าต่างประเทศและสังคมเมืองที่หาผักสดรับประทานได้ยาก หรือไม่มีเวลาปรุงอาหาร เพราะผักที่ฟริชไดร์ดังกล่าวมีการซอยให้แล้ว เป็นต้น