กรมชลฯ ลงพื้นที่ นครศรีธรรมราช เตรียมรับนายกฯ ประยุทธ์ 7 ต.ค. นี้ 

เดินสาย “อธิบดีกรมชล”ลงพื้นที่เมืองนครศรีธรรมราชเตรียมรับ นายก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา”7 ต.ค.นี้ ด้านรองธิบดีเฉลิมเกียรติลุยติดตามความคืบหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

วันที่ 6 ตุลาคม 2564 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นายการุณ แปลงรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา นายวิทยา แก้วมี ผู้อำนวยการกองแผนงาน นายบุรีรัตน์ วงศ์บุรี ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำและโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมี นายปริญญา สัคคะนายก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 นายพิทักษ์พงษ์ ติ๊บแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครศรีธรรมราช สรุปข้อมูลสถานการณ์น้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมในการตรวจราชการของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 7 ตุลาคม 2564 นี้

ทั้งยัง ได้ติดตามการดำเนินงานกำจัดวัชพืชและขุดลอกคลองผ่านตัวเมืองนครศรีธรรมราชทั้ง 5 สาย ได้แก่ คลองคูพาย คลองสวนหลวง คลองป่าเหล้า คลองนครน้อย และคลองท่าซัก ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วนในเมืองนครศรีธรรมราช

อีกด้านหนึ่ง นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ ลงพื้นที่ติดตามแผนรับมือน้ำหลากลุ่มเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง พร้อมตรวจติดตามความก้าวหน้างานสำรวจ ออกแบบ โครงการปรับปรุงระบบชลประทานพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก (เพิ่มเติม)โดยมีนายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 พร้อมด้วย นายพิเชษฐ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม นายอนุสรณ์ ตันติวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 10) และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำหรับโครงการปรับปรุงระบบชลประทานพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองชลประทานจากเดิม 200 ลบ.ม./วินาที เป็น 400 ลบ.ม./วินาที โดยสามารถระบายน้ำออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา 100 ลบ.ม./วินาที ระบายน้ำออกแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางประกง ประมาณ 156  ลบ.ม./วินาที และระบายน้ำสู่ทะเลบริเวณอ่าวไทย 144 ลบ.ม./วินาที ตามศักยภาพของสถานีที่มีอยู่ (ปี 2560) ซึ่งจะสามารถบริหารจัดการน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่เจ้าพระยาตะวันออกตอนล่าง และพื้นที่ข้างเคียงที่เกิดขึ้นซ้ำซากได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

โดยโครงการฯ มีพื้นที่ครอบคลุมฝั่งตะวันออกตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่แม่น้ำป่าสัก (บริเวณเขื่อนพระรามหก) จนถึงชายทะเลอ่าวไทย แบ่งเป็นพื้นที่จากแม่น้ำป่าสัก ถึงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ และพื้นที่ฝั่งตะวันออกตามแนวคลอง 13 – คลองนครเนื่องเขต – คลองหลวงแพ่ง – คลองพระองค์ไชยานุชิต-คลองด่าน 

สำหรับองค์ประกอบของโครงการแบ่งเป็น งานปรับปรุง/ขุดลอกคลอง  จำนวน 31 คลอง รวมความยาวประมาณ 525 กิโลเมตร งานออกแบบก่อสร้างอาคารบังคับน้ำใหม่ จำนวน 12 แห่ง และงานปรับปรุงอาคารบังคับน้ำและสะพานจำนวน 9 แห่ง

โดยจังหวัดที่อยู่ในแผนงานการปรับปรุงระบบระบายน้ำในพื้นที่โครงการ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  สระบุรี นครนายก ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ โดยมีระยะเวลาการสำรวจออกแบบโครงการฯ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึง 20 มิถุนายน 2566 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 720 วัน 

จากนั้น คณะฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้างานสำรวจ ออกแบบโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก จังหวัดชัยนาท (เพิ่มเติม) และลงพื้นที่ประตูระบายน้ำช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ 

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้เกิดอุทกภัยขึ้นบ่อยครั้งและมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กรมชลประทานจึงได้จัดทำแผนบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวน 9 แผนโดยโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก เป็น 1 ใน 9 แผน ซึ่งเป็นงานสำรวจ-ออกแบบต่อจากระยะที่ 1 เริ่มตั้งแต่ กม.46+500 ของคลองระบายชัยนาท-ป่าสักที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ จนสิ้นสุดแม่น้ำป่าสัก  กม.134+365 บริเวณ ตำบลเริงราง อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี รวมระยะทาง 87.86 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี มีแนวทางการขยาย/ปรับปรุงคลองชัยนาท-ป่าสัก เป็น 2 คลอง คือ 1.คลองส่งน้ำดาดคอนกรีต ใช้ชื่อว่า “คลองส่งน้ำอนุศาสนนันท์” อยู่ทางฝั่งขวาของคลองระบายชัยนาท-ป่าสักติดกับพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาต่างๆ ซึ่งเป็นระบบชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง 2.คลองระบายน้ำหลาก ใช้ชื่อว่า “คลองระบายชัยนาท-ป่าสัก” ขุดขยายคลองชัยนาท-ป่าสักเดิม ให้ชิดเขตคลองฝั่งซ้าย ให้มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในเขตคลอง (Right-of-Way) ที่เหลืออยู่ เพื่อรองรับการระบายน้ำด้วยอัตราการระบาย 800 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีความคืบหน้าการออกแบบของโครงการ 87.66 เปอร์เซ็นต์ 

ทั้งนี้ หากโครงการฯ แล้วเสร็จจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาพรวมของทั้งลุ่มน้ำได้ โดยสามารถตัดยอดน้ำหลากที่ผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้สูงถึง 800 ลบ.ม./วินาที สามารถบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัยที่มีผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน รวมทั้งสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภค-บริโภค อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน/ผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและจ้างงานในท้องถิ่นอีกด้วย