โรงงานน้ำตาลค้าน “กากอ้อย” เข้าระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ชี้เป็นขยะไม่ใช่ผลพลอยได้

อ้อย+น้ำตาล

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ย้ำจุดยืนคัดค้านการนำ “กากอ้อย กากตะกอนกรอง” เข้าไปคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70/30 ชี้เป็นกากขยะอุตสาหกรรม “ไม่ใช่ผลพลอยได้” หวั่นรัฐไฟเขียว พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ผ่าน หวั่นทำเอกชนเมินลงทุนต่อยอดใช้ของเสียกากอ้อยและกากตะกอนกรองไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รั้งอุตสาหกรรม BCG เดินไม่ได้ตามแผน

วันที่ 8 ตุลาคม 2564 นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นตัวแทนจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 57 โรงงาน มีมติคัดค้านร่างแก้ไข มาตรา 4 ใน พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่ต้องการนำ “กากอ้อยและกากตะกอนกรอง” เข้าสู่การคำนวณระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70/30 โดยเพิ่มเติมคำนิยามให้รวมกากอ้อย กากตะกอนกรอง เป็น “ผลพลอยได้” จากกระบวนการผลิตน้ำตาล ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

เนื่องจากกากอ้อยและกากตะกอนกรอง เป็นขยะอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทราย จึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรงงาน โดยต้องดำเนินการกำจัดของเสียดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาโรงงานได้นำกากอ้อยไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาล และมีเพียงบางโรงงานที่นำไปสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด

เช่นเดียวกับกากตะกอนกรองที่มาจากการนำสิ่งปนเปื้อน เช่น อิฐ หิน ดิน ทราย ที่ติดมากับอ้อยเข้าหีบที่ชาวไร่ส่งมอบให้แก่โรงงานซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการผลิต โรงงานจึงนำไปผลิตเป็นปุ๋ยเป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม

ดังนั้น การนำกากอ้อยและกากตะกอนกรอง ซึ่งเป็นขยะอุตสาหกรรมมาเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ โดยพยายามอ้างว่าเป็นพลอยได้จากกระบวนการผลิตนั้น จึงถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ และส่งผลกระทบต่อสัดส่วนต่อการแบ่งปันผลรายได้ที่เคยเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่ายระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน

นอกจากนี้ การแก้ไขมาตราดังกล่าวยังเป็นการปิดกั้นต่อภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรม โดยนำกากขยะอุตสาหกรรมสิ่งที่ไม่ใช้แล้วมาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม BCG ที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้นำผลผลิตทางเกษตร เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พัฒนาขึ้นใหม่ที่มีมูลค่าสูง หากมีการนำผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เป็นการต่อยอดจากขยะอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมหรือจากผลผลิตอ้อยและน้ำตาล ต้องนำมาคำนวณแบ่งปันรายได้จากการผลิตที่ถูกพัฒนาขึ้นนั้น จะไม่มีภาคเอกชนรายใดที่ต้องการเข้ามาลงทุนเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในอนาคต

“เราไม่เห็นด้วยและพร้อมคัดค้านทุกทางที่จะนำกากอ้อยและกากตะกองกรอง มารวมเป็นผลพลอยได้เพื่อเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ เนื่องจากการนำกากอ้อยและกากตะกอนกรองที่เป็นขยะอุตสาหกรรมมาสร้างรายได้ โดยโรงงานเป็นผู้แบกภาระการลงทุนทั้งหมด ดังนั้น หากมีการบังคับแก้ไข ต่อไปคงไม่มีเอกชนรายใดต้องการเข้ามาลงทุนนำการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจแน่นอน”