เส้นทางพายุ “คมปาซุ” ทำฝนตกหนักจุดไหน ?

ฝนตก

อิทธิพลของพายุโซนร้อน “คมปาซุ” ทำฝนตกหนักหลายพื้นที่ ส่งผลปริมาณน้ำท่าเพิ่มสูง ไหลลงแม่น้ำต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เตือนประชาชนบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำและริมน้ำ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ในช่วง 2-3 วันนี้

วันที่ 16 ตุลาคม 2564 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำป่าสักในช่วงวันที่ 15 – 21 ตุลาคม 2564 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปรับการระบายน้ำในอัตราอยู่ระหว่าง 300 – 450 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมระดับน้ำเเละปริมาณน้ำในเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพน้ำฝน-น้ำท่า

ทั้งบริเวณเหนือเขื่อนและด้านท้ายเขื่อน ส่วนปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มขึ้น จะใช้ระบบชลประทานฝั่งตะวันออกตอนล่างรับน้ำ ก่อนระบายลงสู่แม่น้ำบางปะกงและทะเลอ่าวไทยตามลำดับ จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย สำหรับระดับน้ำในวันนี้ (15 ตุลาคม 2564) มีดังนี้

1. อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เพิ่มขึ้น 63 เซนติเมตร (ยังต่ำกว่าตลิ่ง 8.24 เมตร)
2. อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพิ่มขึ้น 1.62 เมตร (ยังต่ำกว่าตลิ่ง 9.90 เมตร)
3. อ.เมือง จ.สระบุรี เพิ่มขึ้น 1.20 เมตร (ยังต่ำกว่าตลิ่ง 4.72 เมตร)
4. อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ลดลง 30 เซนติเมตร (ยังต่ำกว่าตลิ่ง 2.36 เมตร)

ด้านแม่น้ำลพบุรี ระดับน้ำที่ไหลผ่านในพื้นที่ อ.เมืองลพบุรี และ อ.บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา ลดลงเฉลี่ยวันละ 5 – 10 เซนติเมตร ขณะที่เขื่อนพระราม 6 ระบายน้ำในอัตรา 304 ลบ.ม./วินาที

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย ระดับน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ มีดังนี้

อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,376 ลบ.ม./วินาที (เพิ่มขึ้น 42 ลบ.ม./วินาที) เขื่อนเจ้าพระยา ปรับการระบายน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 2,361 ลบ.ม./วินาที (เพิ่มขึ้น 47 ลบ.ม./วินาที)

อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,276 ลบ.ม./วินาที (เพิ่มขึ้น 11 ลบ.ม./วินาที) ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 3 ซม. และจ.อ่างทอง ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,288 ลบ.ม./วินาที (ลดลง 7 ลบ.ม./วินาที) ระดับน้ำลดลง 2 ซม.

ส่วนสถานการณ์น้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก ที่ ต.พุคา อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของทุ่งฝั่งตะวันออก ระดับน้ำลดลงกว่า 1.50 เมตร สามารถใช้เส้นทางสัญจรภายในหมู่บ้านได้แล้ว

ขณะที่ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ และ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เกิดฝนตกหนัก และหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม จะทำการเร่งระบายน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ต่อไป

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยง พร้อมเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำและริมน้ำ ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา