ธุรกิจขนส่ง-ค้าปลีกออนไลน์ ดันตั้งธุรกิจใหม่ พ.ย. 64 พุ่ง 5,642 ราย

โฮมช้อปปิ้ง

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยยอดจดทะเบียนเดือน พ.ย. 2564 เพิ่มขึ้น 5,642 ราย ผลจากธุรกิจรับส่งเอกสาร สิ่งของ ค้าปลีกออนไลน์พุ่ง จากโควิดคนหันเล่นโซเชียลมากขึ้น ยังจับตาโอไมครอนกระทบความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไตรมาส 4

วันที่ 23 ธันวาคม 2564 นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 5,642 ราย เพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 16,983 ล้านบาท และประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก

ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 566 ราย คิดเป็น 10% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 287 ราย คิดเป็น 5% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร จำนวน 195 ราย คิดเป็น 3%

โสรดา เลิศอาภาจิตร์
โสรดา เลิศอาภาจิตร์

ส่วนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน 2564) มีจำนวนทั้งสิ้น 69,253 ราย เพิ่มขึ้น 15% ทั้งปีน่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย 70,000 ราย

การจดทะเบียนเพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งเติบโต ได้แก่ ธุรกิจรับส่งเอกสาร/สิ่งของ จัดตั้งเพิ่มขึ้น 62 ราย คิดเป็น 6.9 เท่า และขายปลีกทางอินเทอร์เน็ตจัดตั้งเพิ่มขึ้น 55 ราย คิดเป็น 94.83% ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นโยบายการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ผู้ประกอบธุรกิจจึงควรติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ส่วนการจดทะเบียนเลิกธุรกิจในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีจำนวน 2,892 ราย เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 109,271 ล้านบาท ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 204 ราย คิดเป็น 7% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 148 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 77 ราย คิดเป็น 3%

ส่วนการจดทะเบียนเลิกธุรกิจในระยะ 11 เดือนแรกของปี พบว่ามีจำนวน 13,617 ราย ลดลง 9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 30 พ.ย. 2564) ธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 811,224 ราย มูลค่าทุน 19.23 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 197,245 ราย คิดเป็น 24.31% บริษัทจำกัด จำนวน 612,664 ราย คิดเป็น 75.53% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,315 ราย คิดเป็น 0.16%

สำหรับการลงทุนประกอบธุรกิจไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าว เดือนพฤศจิกายน 2564 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 68 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 24 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 44 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,002 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 15 ราย เงินลงทุน 3,516 ล้านบาทรองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จำนวน 13 ราย เงินลงทุน 497 ล้านบาท และสิงคโปร์ จำนวน 10 ราย เงินลงทุน 1,183 ล้านบาท