“ลักษณ์” สั่งตั้งคณะทำงานแก้ปัญหายางพารา ชี้ชาวสวนยางโอดราคายางยังต่ำ

“ลักษณ์” สั่งตั้งคณะทำงานแก้ปัญหายางพารา ชี้ชาวสวนยางโอดราคายางยังต่ำ จี้จัดตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง จ่ายเงินเยียวยาครัวเรือนละ 3,000 บาท “สุนทร” ลั่นขีดเส้น 30 วัน

นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเกษตรกรชาวสวนยาง นำโดย นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) ว่า ตัวแทนชาวสวนยางได้เสนอแนวทางการปฏิรูปยางพาราไทย 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ขอให้มีตัวแทนชาวสวนยาง มีส่วนร่วมกับการกำกับดูแลเรื่องยางพาราร่วมกับคณะกรรมการด้านยางระดับสูงขึ้นไป อาทิ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เป็นต้น ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ จึงเตรียมแต่งตั้งนายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ทำหน้าเป็นประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหายางพารา โดยให้สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง เสนอรายชื่อผู้ที่จะมาร่วมในคณะทำงานด้วย

2.ขอให้ตัวแทนชาวสวนยางเข้าไปมีส่วนร่วมเสนอกลยุทธ์ ในยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของ กยท. เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์กับเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย และ 3. ขอให้มีการปรับระเบียบภายใน กยท. เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 49 (5) ซึ่งระบุว่าให้นำเงินค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกยางพารา (เงินเซส) ไม่เกิน 7% เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง โดยเสนอแก้ระเบียบนี้ ให้เกษตรกรชวนยางที่สมัครใจสามารถจ่ายเงินเป็นสวัสดิการแก่ตัวเองได้ด้วย สำหรับต้นเหตุปัญหายางพาราตกต่ำในปัจจุบัน ตนขออนุญาตไม่ตอบ เพราะไม่อยากให้มองว่ายางพาราเป็นพืชทางการเมือง อยากให้มองยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจมากกว่า

นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) เปิดเผยว่า ชาวสวนยางต้องการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยางขึ้นในลักษณะสังคมสวัสดิการ รูปแบบสมัครใจจ่ายเงินสมทบ โดยให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จ่ายเงินสวัสดิการให้แก่คนกรีดยางครัวเรือนละ 3,000 บาท เพื่อช่วยเยียวยาจากวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ โดยเกษตรกรชาวสวนยางมีมติกันว่าจะจ่ายสมทบวันละ 1 บาทต่อคน ปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนยางทั้งหมด 1.6 ล้านครัวเรือน ถ้ามีผู้สมัครใจประมาณ 1 ล้านครัวเรือน ก็จะทำให้ 1 ปี จะมีเงินสบทบกองทุนที่จะเกิดขึ้น 365 ล้านบาท

สำหรับสิทธิ์ที่ควรจะได้รับเมื่อชาวสวนยางจ่ายเงินสบทบ คือ เรื่องค่ารักษาพยาบาล และเรื่องการจ่ายเงินตอนเกิดวิกฤตยางพาราตกต่ำ โดยในการเยียวยาขั้นต้นคนกรีดยางควรได้ 3,000 บาทต่อครัวเรือน ไว้ใช้สำหรับดำเนินชีวิตประจำวัน จากแต่เดิมต้องรอเกษตรกรเสียชีวิตตามระเบียบ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ก่อน กยท.ถึงจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร 3,000 บาท

“การกำหนดเกณฑ์ช่วยเหลือว่าราคายางพาราตกต่ำเท่าไหร่ถึงจะได้รับเงินสมทบ ได้เสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อที่จะแก้ไขระเบียบว่าด้วยสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยางพิจารณา รวมทั้งได้เสนอให้นำเงินค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกยางพารา (เงินเซส) ที่จัดสรรไม่เกิน 7% เข้ามาสมทบในกองทุนสวัสดิการด้วย สมมติว่า กยท.เก็บเซสได้ 6,000 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 7% ก็คือ 420 ล้านบาท และรวมกับชาวสวนยางซึ่งจะจ่ายเงินสมทุบอีก 365 ล้านบาท ก็จะทำให้มีเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางมากขึ้น อย่างไรก็ตามถ้าหากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตามที่เรียกร้องภายใน 30 วัน จะมีการออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวที่กระทรวงเกษตรฯ หรือทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง