ธปท.เผยเกณฑ์กำกับสินทรัพย์ดิจิทัล คาดชัดเจนเร็วๆ นี้

ธปท.เผยเกณฑ์กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลคาดมีความชัดเจนเร็ว ๆ นี้ ชี้ห่วงนำไปใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ กระทบเสถียรภาพระบบการเงิน ลั่นไม่ได้ปิดประตู หากมีประโยชน์พร้อมพิจารณา สอดคล้องนโยบายธนาคารกลางต่างประเทศ ทั้งยอมรับ-แบนทุกมิติ-กลุ่มติดตามใกล้ชิด

วันที่ 24 มกราคม 2565 นายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตอนนี้ธปท.อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) โดยคาดว่าน่าจะได้เห็นภายในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ดี เกณฑ์การกำกับดูแลหรือมุมมองของ ธปท.จะพิจารณาในรายละเอียดของการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ โดยไม่ได้ปิดกั้นทั้งหมด หากมีบางจุดที่มีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ ธปท.ก็พร้อมสนับสนุน

อย่างไรก็ดี มุมมองของ ธปท.จุดสนใจอยู่ที่การนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) เนื่องจากมีความเสี่ยงในเรื่องของความปลอดภัย การถูกนำไปใช้ในการฟอกเงิน และหากปล่อยให้ระบบการชำระเงินมีหลายหลายสกุลเงิน จะกระทบต่อนโยบายการดูแลเรื่องของราคาและเงินเฟ้อ รวมถึงสภาพคล่องในระบบ ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้

ขณะที่มุมมองของธนาคารกลางต่างประเทศต่อสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น จะเห็นว่ามีการพุดคุยกันอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเรื่องใหม่ โดยทิศทางต่างประเทศมองสินทรัพย์ดิจิทัลมูลค่าผันผวน และไม่มีที่มาของมูลค่าชัดเจน ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกค่อนข้างห่วงว่าจะมาลดทอนเสถียรภาพระบบการเงินได้ โดยมีหลายประเทศที่ไม่ปิดกั้น และอยู่ระหว่างการพิจารณา และก็มีบางประเทศที่ปิดไม่ให้นำมาใช้ในระบบการเงิน ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้ปิดประตู แต่อยู่ระหว่างการพิจารณา

“การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีตัวกลางการดูแล และขึ้นอยู่กับผู้ลงทุน ธปท.ไม่ได้ปิดประตู แต่เรื่องการชำระเงินมีธนาคารกลางต่าง ๆ ก็มีปิดไม่อนุญาต แต่ก็มีหลายธนาคารที่พิจารณาอยู่ แต่มุมมองของ ธปท.คงไม่แตกต่างจากต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน บางประเทศรอดู บางประเทศปิดเลย หรืออยู่ระหว่างการเปิดรับความคิดเห็น

ทั้งนี้ หากหลักเกณฑ์การกำกับดูแลออกมา จะมีช่วงระยะเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัว เพราะรายละเอียดหลักเกณฑ์จะต้องดูว่าเกี่ยวข้องกลับกลุ่มไหน ซึ่งมีบริบทแตกต่างกัน”

นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธปท. กล่าวว่า หากดูหลักเกณฑ์หรือนโยบายของต่างประเทศต่อการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะแบ่งออกเป็น 3-4 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มสีเขียว หรือกลุ่มยอมรับใช้ดิจิทัลทั้งการชำระค่าสินค้าและบริการ และการลงทุน เช่น ประเทศเอลซัลวาดอร์ ที่ยอมรับให้ Bitcoin สามารถใช้ได้ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเอลซัลวาดอร์ใช้สกุลเงินดอลลาร์เป็นหลัก ขณะที่สกุลเงินตัวเองไม่มีเสถียรภาพ จึงเปิดให้สามารถใช้ได้

2.กลุ่มห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าบริการ เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งนอกจากห้ามชำระค่าสินค้าและบริการ ยังห้ามใช้เป็นสกุลเงิน และประเทศอินเดีย ที่อยู่ระหว่างเสนอกฎหมายห้ามใช้

และ 3.กลุ่มที่กำลังพิจารณาและติดตามดูอยู่ อาจจะมีผลิตภัณฑ์บางตัวออกมา เช่น Stable coin โดยสามารถใช้ได้แต่จะต้องมีการกำกับดูแล เช่น ประเทศอังกฤษ ฮ่องกง ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณานโยบายและติดตามท่าทีของต่างประเทศ โดยมีการออกเปเปอร์รับฟังความคิดเห็น หรือสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐ ซึ่งจะมีสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่สามารถใช้ได้

โดยอียูมีกฎหมายที่ชื่อว่า Mica ออกมาเพื่อแยกประเภทของเหรียญระหว่างสื่อกลางการชำระเงินหรือการลงทุน เช่นเดียวกับสิงคโปร์เปิดให้สามารถลงทุนได้ แต่จะมีการจำกัดปริมาณ หรือสามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปเทรดได้เท่าไรและเปลี่ยนเป็นเงินจะต้องทำอย่างไร เป็นต้น ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มนี้ และ 4.กลุ่มที่ห้ามใช้ทุกมิติ ได้แก่ จีน และรัสเซีย

“หากดูสื่อกลางการชำระเงินโดยใช้เครื่องมือชำระเงินค่าสินค้าและบริการที่แพร่หลาย เช่น เหรียญกษาปณ์ ธนบัตร หรือเงินฝากในบัญชี ซึ่งมีการกำกับดูแลและมาคุ้มครองอยู่ นอกจากนี้ยังมีบัตรเครดิต ซึ่งเป็นการชำระเงินที่มีระยะเวลาดีเลย์ออกไป หรือบัตรเติมเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ที่ผูกกับเงินตรา 100% ในแง่ความเสี่ยงไม่มี และเกณฑ์ปัจจุบันคุ้มครองลูกค้าหากบริบทให้บริการล้มละลาย ซึ่งเป็นออปชั่นที่ ธปท.มองอยู่ในการพิจารณาการกำกับดูแล”

สำหรับกรณีเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินที่จะเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกหนังสือเวียนในการกำกับดูแลว่าสิ่งไหนทำได้หรือไม่ได้ เช่น หากไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเลย ไม่สามารถทำได้ เพราะมีเงินฝากของประชาชนอยู่ แต่กรณีเข้าไปลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีหรือต่อยอดนวัตกรรมสามารถทำได้ แต่จะมีสัดส่วนกำหนดการลงทุน เป็นต้น หรือปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยแตกบริษัทให้บริษัทลูกไปซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นก็อยู่ระหว่างการพูดคุย