“น้ำมันรั่วในทะเล” แค่จุดเริ่มต้น ฟื้นฟูส่อเค้ายาวถึง 3 ปี

ภาพการแพร่กระจายของคราบน้ำมันไลต์ครูตของ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ที่รั่วไหลบริเวณท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 สร้างความหวั่นวิตกต่อทุกภาคส่วนว่าจะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจ คล้ายกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วเมื่อปี 2556 หรือไม่

ในเบื้องต้น SPRC รายงานเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเกิดขึ้นบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) อยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 20 กม. พบปริมาณน้ำมันที่รั่วไหล 4 แสนลิตร กระทั่งบริษัทได้ส่งนักประดาน้ำลงสำรวจจุดเกิดเหตุพบว่าปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลมีเพียง 50,000 ลิตร ซึ่งจากการดำเนินการควบคุมพื้นที่และกำจัดคราบน้ำมันในวันที่ 26 ม.ค. 2565 โดยฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมันสามารถกำจัดออกไปได้ 45,000 ลิตร เหลือตกค้าง 5,000 ลิตร คาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติใน 1-2 วัน

อย่างไรก็ตาม ทาง SPRC ยังคงเร่งหาสาเหตุที่ท่อน้ำมันดิบรั่ว พร้อมตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และลดผลกระทบ โดยร่วมงานกับบริษัทประกันภัยสอบสวนและประเมินเหตุการณ์ เบื้องต้นมีการประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินและการหยุดชะงักของธุรกิจ ด้วยทุนประกัน นับพันล้านเหรียญสหรัฐ

บิ๊กตู่เกาะติดสถานการณ์

ทุกหน่วยงานระดมจัดคณะลงพื้นที่เกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า จะตั้ง “คณะกรรมการ” ประกอบด้วยกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง

Advertisment

ขณะที่กระทรวงพลังงาน ให้กรมธุรกิจพลังงาน ติดตามสถานการณ์ ในส่วนโรงกลั่น SPRC มีกำลังการกลั่น 175,000 บาร์เรลต่อวัน จากภาพรวมประเทศไทยมีกำลังการกลั่น 1.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ผลตรวจสอบการผลิตและสต๊อกได้รับการ “ยืนยัน” ว่ายังไม่กระทบต่อการจัดหาน้ำมันยังเพียงพอ

หนุน “บำรุงรักษาเชิงป้องกัน”

นายสุพันธ์ุ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สะท้อนว่า “ทุกภาคส่วนควรต้องวิเคราะห์และถอดบทเรียนเรื่องนี้เพื่อวางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสิ่งที่สำคัญ คือ ต้องมีการลงทุน ระบบการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (preventive maintenance : PM) เพื่อรับมืออุบัติภัยต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันมีระบบนี้ได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่อาจต้องใช้งบประมาณลงทุนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น หากเป็นไปได้รัฐควรมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเรื่องนี้”

“ผมเชื่อว่าเอกชนและโครงการลงทุนขนาดใหญ่เมกะโปรเจ็กต์ต่างได้มีการศึกษารายละเอียดและเตรียมมาตรการเรื่องดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับอุตสาหกรรม และตอนนี้เทคโนโลยีต่าง ๆ ทันสมัยมาก ส่วนแนวทางการดูแลการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดต้องผ่านการดูแลของภาครัฐทั้งโครงการใหม่และที่ลงทุนไปแล้ว”

ความเสียหายยังไม่จบ

ด้าน นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณนิเวศ ให้มุมมองว่า สิ่งแรกที่เราพบจากเหตุการณ์นี้ คือ ข้อมูลยังไม่นิ่ง และแหล่งที่มาของข้อมูลมาจากบริษัททั้งหมด โดยปราศจากพยานที่ไม่ใช่บริษัท จึงกังวลว่าอาจจะซ้ำรอยเหตุการณ์เมื่อปี 2556 ซึ่งการประเมินตัวเลขต้องดูความหนาของชั้นน้ำมันและขอบเขตพื้นที่ที่กระจายออกไป

Advertisment

“ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจาก 2 ส่วนคือจากน้ำมันที่รั่ว และจากสารเคมีที่ใช้สลายคราบน้ำมันตกค้างในทะเลส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์น้ำในทะเลหากใช้ในปริมาณมากเกินไป จะต้องใช้เวลา 1-3 ปีในการย่อยสลาย และสารเคมีบางชนิดมีพิษ สำหรับการประเมินความเสียหายจะต้องครอบคลุมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น เรือประมง ธุรกิจท่องเที่ยว”

พร้อมกันนี้ได้เรียกร้องให้ ตั้ง “คณะกรรมการกลาง” จากตัวแทนผู้เสียหาย นักวิชาการด้านต่าง ๆ เช่น สิ่งแวดล้อม นักเศรษฐศาสตร์ เพื่อมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเมินความเสียหาย

และรัฐต้องปฏิรูปการดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่ส่งเสริมการลงทุนอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเดิมคืออีสเทิร์นซีบอร์ดที่ได้มีการลงทุนอุตสาหกรรมอย่างปิโตรเคมี และสารเคมีต่าง ๆ มีการก่อสร้างโครงข่ายท่อขนส่งน้ำมันใต้ทะเล ระยะทางกว่า 1 หมื่น กม. มีอายุใช้งานกว่า 30 ปี ต้องตรวจสอบและบำรุงรักษาป้องกันอุบัติภัยรวมถึงการลงทุนโครงการต่าง ๆ จะต้องมีการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และรัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเลคู่ขนานกันไป