ส.อาหารสำเร็จรูป มั่นใจโรงงานอาหารไทยผ่านมาตรฐานโลก

ส.อาหารสำเร็จรูป เกาะติดคดีโรงงานไส้กรอกไม่ได้มาตรฐาน ชี้โรงงานอาหารไทยผ่านมาตรฐานโลก อย่าสับสนกับโรงงานที่ทำผิดแนะผู้บริโภคตรวจสอบฉลากก่อนซื้อต้องได้มาตรฐาน อย.

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีการตรวจและจับกุมโรงงานไส้กรอกไม่มาตรฐาน ที่จังหวัดชลบุรีว่า

หลังจากพบผู้บริโภคซึ่งเป็นเด็กในพื้นที่ จ.เชียงใหม่, สระบุรี, เพชรบุรี, ตรังและกาญชนบุรีรวม 9 คนที่ถูกส่งเขา้รักษาตัวในโรงพยาบาล หลังจากกินไส้กรอกยี่ห้อหนึ่ง

โดยผู้ป่วย มีอาการตัวซีด หายใจลําบาก และเหนื่อยง่าย เนื่องจากภาวะภาวะ methemoglobinemia (เมธฮีโมโกลบินนีเมีย) ที่มีสารไปจับในเม็ดเลือดแทนออกซิเจน ทําให้ร่างกายขาดออกซิเจน บางรายก็ถึงขึ้นหมดสติ หรือเสียชีวิตได้

ส่วนสาเหตุของภาวะ methemoglobinemia มาจากการใช้สารไนไตรท์ และไนเตรต ที่ใช้สําหรับยืดอายุของอาหาร หรือสารกันบูด ซึ่งตามปกติแล้วร่างกายสามารถจะขับสารดังกล่าวออกทางไตได้ หากไม่เกินมาตราฐาน

ซึ่งกฎหมายได้กําหนดให้ใช้ประกอบผลิตภัณฑ์อาหารได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของอาหาร แต่จากการตรวจสอบ ตรวจวิเคราะห์ ก็พบว่า ผลิตภัณฑ์มีปริมาณสารนี้ถึง 2,000 กว่ามิลลิกรัม

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการตรวจสอบโรงงานที่ผลิตไส้กรอกที่ไม่ได้มาตรฐานดังกล่าว พบว่า เป็นกิจการโรงงานผลิตไส้กรอก หมูยอดำเนินการมา 5 ปี โดยมีนางสาวรักทวี แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งจากการตรวจสอบโรงงานผลิตไส้กรอกดังกล่าวมีการผลิตสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน 32 ยี่ห้อ เช่นยี่ห้อ ไส้กรอกเต็งหนึ่ง หมูยอ บ.อุบล หมูยอแม่จันตรี หมูยออู๋ลี่เจี้ยน หมูยอภูวดล พรีเมี่ยมหมูยออุบล พรีเมี่ยมไก่ยออุบล หมูยอ-ไก่ยอจอมยุทธ ไก่ยอเศรษฐี ไก่ยอ ฤทธิ์ รสเด็ด ลูกช้ินสวัสดี ลูกชิ้นบุญปาก ลูกช้ินหมูบ้านแหลม 888 พรีเมี่ยม ยออุบลหนังหมู เป็นต้น

นอกจากนั้นโรงงานผลิตไส้กรอกยังมีการทําผิดด้านการผลิตหลายอย่าง อาทิ ไม่ได้ขออนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตผลิตภัณฑ์, ฉลากไม่ได้แจ้งเลขสารบบอาหาร สถานที่ผลิต และวัตถุดิบหลายรายการ ถือเป็นฉลากไม่ถูกต้อง

ขณะที่สถานที่ผลิตไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน GMP ได้คะแนนการประเมินเพียง 16.6% เท่านั้น มีข้อบกพร่องหลายเรื่องไม่ผ่านเกณฑ์ตามกฎหมายกําหนด และไม่มีการควบคุมการผลิต มีการใช้วัตถุเจือปนในอาหาร คือพบสารโซเดียมไนไตรต์ หรือสารกันบูด เกิน 2,000 มิลิกรัม ซึ่งเกินกว่าที่ร่างกายจะรับได้ เนื่องจากคนงานที่ผลิตไม่มีการตวงวัดในขั้นตอนการผลิต นอกจากนี้ยังมีการใช้สัญลักษณ์ฮาลาลปลอม

ทั้งนี้ ได้มีการเก็บตัวอย่างอาหารเพื่อนําไปตรวจวิเคราะห์ เนื่องจากสงสัยว่าจะเข้าข่ายอาหารปลอมด้วย ซึ่งผลสรุปมีการปลอมแปลงอาหาร ปลอมแปลงอาหารโดยใช้เนื้อไก่แทนเนื้อหมูทําหมูยอ การเอาเนื้อไก่ปลอมเป็นเนื้อหมู เพื่อแปรรูปเป็นหมูยอ ซึ่งเป็นความผิด

“จากข่าวเจ้าของโรงงานยอมรับว่า ทําการผลิตมาประมาณ 1 ปีเศษ ซึ่งย้ายฐานผลิตมาที่นี่ โรงงานมีการกระจายสินค้า 2 ทางคือตลาดนัดจังหวัดชลบุรี และกระจายไปที่มหาชัย ก่อนจะกระจายไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ”

ซึ่งรัฐ ได้มีการสืบสวนหาแหล่งจําหน่าย แหล่งผลิต ของผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหา ก่อนจะวางแผนเข้าตรวจสอบ พบว่าเป็นสถานที่ที่ไม่ได้ขอ อนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตผลิตภัณฑ์ แต่ดําเนินการผลิตผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ เป็นต้น

เจ้าหน้าที่ตํารวจสอบสวนกลาง ร่วม อย. เข้าทลายแหล่งผลิตไส้กรอกมรณะ จับกุมแหล่งผลิตไส้กรอก ยึดของ กลางกว่า 32 รายการ มูลค่ากว่า 700,000 บาท พร้อมมีการเเถลงผลการจับกุม และขณะนี้สั่งปิดโรงงาน และอายัดผลิตภัณฑ์อาหารไว้ท้ังหมดและจากการสอบถามเพิ่มเติม พบว่ามีการส่งผลิตภัณฑ์อาหาร เหล่านี้ไปที่จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนจะกระจายไปยังทั่วประเทศต่อ

นานวิศิษฐ์ กล่าวว่า ทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการออกคำเตือนประชาชนควรดูฉลากสินค้าก่อนซื้อมารับประทาน ซึ่งหากพบว่า สินค้าใดมีฉลากที่ไม่ระบุปริมาณในการผลิตที่แน่ชัด หรือไม่ระบุที่มาที่ไปของโรงงาน ไม่ควรซื้อมารับประทาน และหากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีมาตรฐานสามารถแจ้งสายด่วน อ.ย. 1556 หรือ สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และสามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัย

ส่วนโทษของโรงงานที่ทําความผิดดังกล่าว เบื้องต้นถูกแจ้งข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ฝ่าฝืนมาตรา 6(7) สถานที่ ผลิตอาหารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP) โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และฝ่าฝืนมาตรา 6(10) ผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง โทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

นอกจากนี้อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 ฐานผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจําท้ังปรับ และโทษปลอมแปลงอาหาร ระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 6 เดือนถงึ 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท

“มาตรการดูแลเพื่อป้องกันโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น โดยทั่วไปสํานักคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขได้สุ่มตรวจสินค้าอาหารในตลาดที่ผลิตในประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคซึ่งอาจแนะให้มีการตรวจสอบในสินค้าหลากหลายชนิดมากขึ้น และสุ่มสินค้าในพื้นที่เสี่ยงมากขึ้น เช่น ในตลาดสด จุดกระจายสินค้าขนาดใหญ่เป็นต้น และให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในการเลือกรับประทานสินค้าที่ได้มาตรฐานเพื่อไม่ให้เป็นการสนับสนุนสร้างรายได้ให้แก่โรงงานเถื่อนที่ไม่ได้มาตรฐาน และเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค”

และควรปลูกจิตสํานึกให้ผู้ค้าและผู้บริโภค หากทางร้านค้าหรือผู้บริโภคพบสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานควรโทรแจ้งแจ้งสายด่วน อ.ย. 1556 หรือ สายด่วนกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค 1135

พร้อมกันนี้เน้นย้ำผู้ประกอบการรายใหม่ ให้มีการทํากิจการโรงงาน ผลิตสินค้า ให้มีมาตรฐานตามกฎหมายที่กําหนด เช่น เครื่องหมาย อ.ย. GMP HACCP เป็นต้น ตลอดจนประชาสัมพันธ์ถึงโทษของการทําผิดกฎหมาย ในการทําสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิบัติตาม

“ในส่วนอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นสมาชิก สมาคม ต้องตอกย้ำเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัยอาหารที่เป็นพื้นฐานของการผลิตอาหาร ทั้งในเว็บไซต์ใน Facebook ซึ่งปกติสมาชิกสมาคม เป็นผู้ส่งออกอยู่แล้ว มีมาตรฐานที่สูงกว่าพื้นฐานที่ต้องทำในประเทศ ที่ต้องเน้นย้ำนี้เพื่อให้สังคมได้รับทราบ ว่า สมาชิกเรามีมาตรฐานการผลิตที่ดี มีความปลอดภัย เพื่อไม่ให้สับสนกับ ผู้ประกอบการที่ทำความผิด”