พาณิชย์ MOU ขายข้าวอิรัก จีทูจียุคใหม่เปิดทางเอกชน

ส่งออกข้าว

จ่อ MOU “อิรัก-ไทย” ฟื้นตลาดข้าวในรอบ 7 ปี เปิดทางไทยร่วมประมูลข้าวขาว 1 แสนตัน “พาณิชย์” กางแผนดันส่งออกปี’65 ทะลุ 7 ล้านตัน แง้มไอเดียจัดระเบียบ “จีทูจี” ใหม่ เปิดทางเอกชนส่งออก รัฐช่วยโปรโมตมาตรฐานข้าวหอมมะลิ-พร้อมเร่งทำคลอดมาตรฐานข้าวขาวพื้นนุ่ม ส่งลงสนามสู้ศึกเวียดนาม

ไทยปิดบัญชีส่งออกข้าวไปได้แค่ 6.1 ล้านตัน ในปี 2564 ครองแท่นเบอร์ 3 ของโลก รองจากอินเดีย และเวียดนาม ล่าสุดสถานการณ์ส่งออกข้าวไทย ช่วงต้นปี 2565 เริ่มกลับมาคึกคัก จากปัจจัยค่าบาทอ่อนค่า และการหวนกลับมาซื้อข้าวไทยอีกครั้งของตลาดที่เคยสูญเสียไปในอดีต โดยเฉพาะตลาดอิรัก ซึ่งปีนี้ได้ประเดิมซื้อข้าวจากบริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกไทยไปแล้วถึง 2 ลำในช่วง 2 เดือนแรก และมีแนวโน้มจะสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่ภาครัฐก็เริ่มเดินหน้าผลักดันการส่งออกคู่ขนาน

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมรวบรวมข้อมูลและหารือกับภาคเอกชน เพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์อิรัก ซึ่งเอ็มโอยูนี้จะเป็นการจัดทำแนวทางในการซื้อขายข้าวขาว 100% ชั้น 2 ตามหลักการที่อิรักกำหนด ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนของไทยสามารถเข้าไปร่วมแข่งขันเสนอราคาขายข้าว

พิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์
พิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์

เช่นเดียวกับสหรัฐ เวียดนาม และอินเดีย ได้ในเร็ว ๆ นี้ซึ่งจะถือเป็นการฟื้นความสัมพันธ์การค้าข้าวในรอบ 7 ปี หลังจากที่อิรักเคยเป็นตลาดพรีเมี่ยมข้าวไทย แต่ไม่มีการนำเข้าข้าวจากรัฐ

“ประเด็นนี้เดิมเป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายดำเนินการต่อเนื่องมาจากที่ไทยเคยประสานไป แต่ช่วงนั้นเกิดมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงด้านการเมืองภายในอิรักจึงยังไม่ได้สานต่อ ซึ่งยังมีเงื่อนไขและรายละเอียดในเรื่องของการทำ MOU เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าควรจะเป็นรูปแบบใด เพราะปัจจุบันเอกชนไทยส่งออกข้าวไปเพิ่มขึ้นถึง 8.5 เท่าในปีที่ผ่านมา

ถือว่าภาคเอกชนทำตลาดได้เป็นอย่างดีทั้งอิรักและอิหร่านด้วย อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งการซื้อขายระหว่างรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) แต่ภาคเอกชนส่งไปแบบผ่านตัวแทนเทรดเดอร์ หรือ โบรกเกอร์เป็นส่วนใหญ่ นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่อิรักให้วางแนวทางเรื่องการรับรองค่าออริจิ้นจากไทย”

ลดจีทูจีเปิดทางเอกชน

สำหรับภาพรวมการทำจีทูจีในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา ไทยยังเหลือการเจรจาตกลงซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาล (จีทูจี) กับคอฟโก้ ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน เป็นข้าวขาวปริมาณ 280,000 ตัน ล่าสุดที่มีการเจรจาไปในรอบที่ 9 แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องของราคา ซึ่งในช่วงหลัง ๆ ตลาดมีการเจรจาต่อรองมากขึ้น ทำให้ข้าวไทยต้องแข่งขันด้านราคากับผู้ส่งออกจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

“ไม่อยากให้มองว่าการทำจีทูจีมีผลต่อการส่งออกข้าวภาพรวม เพราะแนวโน้มการทำจีทูจีจะลดลง และนโยบายการทำจีทูจี ควรทำเมื่อมีความจำเป็นจริง ๆ หากตลาดใดที่ภาคเอกชนสามารถทำตลาดและการส่งออกแข่งขันได้ก็ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่เอกชน และสถานการณ์ค้าข้าวต่างจากอดีตที่รัฐเคยมีสต๊อกข้าว แต่ตอนนี้ไม่ได้มีสต๊อกข้าวแล้ว

เมื่อได้ออร์เดอร์จีทูจีมาก็ต้องส่งให้ทางเอกชนทำ และเงื่อนไขจีทูจีก็ยากขึ้น ทั้งเรื่องการกำหนดราคา วิธีการส่งมอบท้าทายมากขึ้น และประเทศคู่ค้าหลายประเทศก็ปรับเปลี่ยนระบบการนำเข้า จากเดิมที่มีหน่วยงานจัดซื้อข้าวโดยรัฐ แต่ภายหลังเริ่มให้เอกชนซื้อเอง เพื่อรัฐจะไปเก็บภาษีจากการนำเข้าไปใช้ดูแลอุตสาหกรรมข้าวในประเทศ เราจึงเห็นว่าหากตลาดใดที่เอกชนทำได้ก็ให้ทำ กรมช่วยในบางกรณี หรือบางประเทศที่มีความจำเป็นเท่านั้น”

กางแผนดันส่งออกข้าว

นายพิทักษ์กล่าวว่า ไทยวางเป้าหมายการส่งออกข้าวปีนี้ให้ได้ 7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 17% จากปี 2564  เนื่องจากปีนี้ไทยมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับเพาะปลูก ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวอาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา และค่าเงินบาทอ่อนค่าอยู่ที่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ระดับราคาข้าวไทยสามารถแข่งขันได้มากขึ้น อีกทั้งตลาดส่งออกข้าวของไทยมีแนวโน้มขยายตัวไปในทิศทางที่ดี คือ ตลาดข้าวขาว และข้าวนึ่ง ส่วนข้าวหอมมะลิน่าจะยังทรงตัวเทียบเท่ากับปีที่ผ่านมา

สำหรับแผนการส่งเสริมการส่งออกข้าว มี 2-3 ด้านหลัก คือ มีแนวคิดในการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานข้าวหอมมะลิ (ตราเขียว) เพื่อป้องกันปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวชนิดพรีเมี่ยมของไทย ในอดีตกรมออกเครื่องหมายข้าวหอมมะลิสำหรับข้าวที่ผ่านมาตรฐานมีการตรวจ DNA ข้าวหอมมะลิแท้ที่ 92% เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ เพื่อให้ความมั่นใจต่อผู้ซื้อว่าเป็นข้าวหอมมะลิแท้

ซึ่งมีผู้มาขอรับการรับรองและบริษัทส่งออกเริ่มทำแบรนด์ของตัวเองมากขึ้น ทางกรมจึงมีแนวคิดว่าจะรวบรวมรายชื่อเครื่องหมายการค้า (แบรนด์) ของบริษัทผู้ส่งออกแต่ละรายมาจัดทำบัญชีรายชื่อ เพื่อประสานต่อให้พาณิชย์จังหวัด และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เพื่อร่วมกันผลักดันการส่งออก พร้อมจัดทำเครื่องหมาย QR code เพื่อให้ติดที่บรรจุภัณฑ์ ช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของข้าว โดยไม่ได้เป็นการเพิ่มต้นทุนต่อผู้ส่งออกมากนัก

ขณะเดียวกัน กรมได้เตรียมพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ และออกเครื่องหมายรับรองมาตรฐานข้าวขาวพื้นนุ่ม สายพันธุ์ใหม่ เช่น กข 79 กข 77 และอีกหลายพันธุ์ โดยในวันที่ 11 ก.พ.นี้ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวจะประกาศผลการประกวดข้าวใหม่เพื่อการพาณิชย์ ครั้งที่ 1 (2564) เพื่อคัดช้างเผือกเป็นตัวตั้งต้น จากนั้นจะนำพันธุ์ข้าวที่ชนะไปส่งมอบให้ชาวนาขยายพันธุ์ เพื่อให้มีการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความหลากหลายมากขึ้น

ความต่างด้านราคา

นอกจากพัฒนาพันธุ์ และมาตรฐานแล้ว ผู้ส่งออกไทยยังต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดตลาดข้าวชนิดใหม่ โดยจำเป็นต้องนำทดสอบตลาดว่าจะยอมรับหรือไม่ เริ่มนำไปทดลองในตลาดมาเลเซีย แต่ช่วงแรกปริมาณผลผลิตยังน้อย จึงทำให้ต้นทุนและราคาสูง แข่งขันกับข้าวขาวพื้นนุ่มเวียดนามไม่ได้

“ราคาข้าวพื้นนุ่มจะสูงกว่าราคาข้าวขาวพื้นแข็ง (เดิม) ประมาณ 50 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็นรองจากข้าวหอมไทย หรือข้าวหอมปทุม (ซึ่งเป็นข้าวอันดับ 2 รองจากข้าวหอมมะลิ) และต้องพิจารณาราคาคู่แข่งด้วย เช่น ปัจจุบันราคาข้าวขาวพื้นแข็งของไทย ตันละ 400 เหรียญสหรัฐ ส่วนราคาข้าวขาวของเวียดนาม 300 เหรียญสหรัฐ ราคาข้าวหอมมะลิของไทยตันละ 700 เหรียญสหรัฐ ข้าวหอมเวียดนามอยู่ประมาณ 900 เหรียญสหรัฐ ข้าวจัสมิน 85 ของเวียดนาม ตันละ 500 เหรียญสหรัฐ ราคาข้าวขาวพื้นนุ่มต้องอยู่ช่วงกลางระหว่างข้าวหอมไทย-ข้าวขาวพื้นแข็ง”

อัดแผนโปรโมตส่งออก

สุดท้าย กรมการค้าต่างประเทศจะต้องมุ่งส่งเสริมการทำการตลาดข้าวหอมมะลิส่งออกมากขึ้น สถานการณ์ COVID-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปโปรโมตตลาดข้าวในต่างประเทศได้ ต้องผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะไม่สามารถนำชมแหล่งผลิต หรือทดลองปรุงให้ชิมได้ หากสถานการณ์คลี่คลาย การจัดคณะเพื่อเดินทางไปขยายตลาดส่งออกข้าวได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งในตลาดส่งออกเดิม และตลาดส่งออกใหม่ เช่น ตลาดซาอุดีอาระเบีย เป็นตลาดข้าวนึ่งที่สำคัญ อยู่ระหว่างของการทำแผนผลักดันขยายตลาด โดยมีการประสานขอข้อมูลไปยังสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) เพื่อทราบรายละเอียดแนวทางการนำเข้าข้าวของตลาดนี้ ซึ่งหลัก ๆ เป็นการนำเข้าจากเอกชน