พพ.ของบ 2 พันล้านจ่ายชดเชยไฟฟ้าปาล์ม 3 ปี

พพ.รับจัดสรรงบฯปี’65 จ่ายชดเชย กฟผ. “ส่วนต่างค่าไฟฟ้าพลังงานจากน้ำมันปาล์ม” 2 พันล้าน แบ่งจ่าย 3 งวด ยาว 3 ปี ประเดิมงวดแรก 500 ล้านบาทปี’65 คาดสิ้นสุดปี’67

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุว่า กรมพัฒนาธุรกิจพลังงาน (พพ.) ได้รายงานต่อคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ว่าความคืบหน้าในการขอรับอนุมัติงบประมาณสำหรับการจ่ายชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิง กับรายได้การขายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีกรอบวงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท

แทนการปรับลดเงินรายได้ที่นำส่งรัฐ หรือการบันทึกบัญชีเพื่อเป็นรายจ่ายเพื่อสังคม (PSA) โดยไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถส่งผ่านไปยังค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเบิกจ่าย โดย พพ.จัดทำแผนงบประมาณปี 2565 วงเงิน 2,002.12 ล้านบาท ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 งวดตั้งแต่ปี 2565-2567

โดยแบ่งการจ่าย 3 งวดประกอบด้วย งวดที่ 1 ปี 2565 เบิกจ่าย 500.53 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25% ของกรอบวงเงินที่ขอรับจัดสรรงบประมาณ งวดที่ 2 ปี 2566 ขอเบิก 1,001.06 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของปีงบประมาณ และงวดที่ 3 ปี 2567 ขอเบิกจ่ายอีก 500.53 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 25% ของกรอบวงเงินงบประมาณ

พร้อมกันนี้ทาง พพ.ยังได้จัดประชุมคณะทำงานกำกับดูแลการชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิงกับรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2565 ไปเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 เพื่อทบทวนแนวทางการชดเชยส่วนต่างซึ่งมีปริมาณ 154,313 ตัน จากกรอบ 160,000 ตัน คิดอัตราชดเชย 5.18125 บาท/กก.

จากก่อนหน้านี้ที่ทางคณะทำงานได้ประชุมไปเมื่อ 22 มีนาคม 2564 เพื่อพิจารณากำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข รายละเอียดในการชดเชยเห็นชอบแนวทางการชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิงกับรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้า

โดยการคำนวณส่วนต่างจากต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าจริง ณ โรงไฟฟ้าบางปะกง หน่วยที่ 3 ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติร่วมกับรายได้จากต้นทุนของโรงไฟฟ้าเสมือนที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อนุมัติและขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 ภายในกรอบวงเงิน 2,029 ล้านบาท แทนการบันทึกเป็นรายจ่ายเพื่อสังคม (PSA) ตามหลักการเดิมของมติคณะรัฐมนตรี

สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพื่อแก้ปัญหาราคาตกต่ำ ในสมัยนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มอบหมายให้ กฟผ.รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากเกษตรกร ราคาประมาณ กก.ละ 18 บาท เพื่อนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง แก้ปัญหาสต๊อกปาล์มน้ำมันที่มีปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2562 ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงพลังงานเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเห็นชอบไว้เดิม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการดำเนินการของกระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้ พพ.เป็นหน่วยงานจัดทำรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 และมอบหมายให้กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ดำเนินการเตรียมการและเพิ่มเติมในส่วนของการของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565

ในภาพรวมของกระทรวงพลังงานในคราวประชุมหารือการพิจารณาความคุ้มค่าและภาระงบประมาณที่เกิดขึ้นในการจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบเมื่อวันอังคารที่ 15 กันยายน 2563 และนำมาสู่การขอรับจัดสรรงบประมาณดังกล่าว