3 องค์กร ขานรับนโยบายรัฐหนุนลงเกษตร EEC ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

3 องค์กร ขานรับนโยบายรัฐหนุนลงเกษตร EEC ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตั้งเป้าส่งออกอาหาร ปี’61 ทะลุ 7% ยอดพุ่ง 1 ล้านล้านบาท แม้ส่งออกอาหารพบวิกฤตค่าเงินบาทแข็ง

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร โดยร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร พร้อมขานรับนโยบายรัฐบาลผลักดันนักลงทุนกลุ่มอาหารทั้งไทยและต่างประเทศเข้าลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหากรรมเป้าหมายรัฐบาล ทั้งนี้การผลักดันอุตสาหกรรมเกษตรจะมีส่วนช่วยเกษตรกรและช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากเกิดความเข้มแข็งตามเป้าหมายรัฐบาลด้วย

ขณะที่ภาคการส่งออกกลุ่มอาหารในปี 2561 ยังขยายตัวไปในทิศทางที่ดี เนื่องจากความต้องการของผู้นำเข้าและเศรษฐกิจในหลายประเทศดีขึ้น อีกทั้งสหภาพยุโรปมีความต้องการสานสัมพันธ์กับประเทศไทยก็เป็นปัจจัยบวกให้การค้า การส่งออกดีขึ้นและเป็นการทิศทางที่ดีในประเด็นประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU อีกด้วย ดังนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเร่งเจรจาด้านการค้าต่อไป

ส่วนปัญหาหรือปัจจัยที่เป็นความกังวลของผู้ส่งออก ผู้ผลิตที่ต้องติดตาม หลักเป็นเรื่องของค่าเงินบาทแข็งค่าที่จะมีผลกระทบต่อการแข่งขัน ดังนั้น ก็ต้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล ส่วนเรื่องแรงงาน และค่าแรง ภาครัฐมีแนวนโยบายดูแลอย่างเต็มที่อยู่แล้ว

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 7% จากปี 2560 และมีมูลค่าส่งออก 1.07 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจาก เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวต่อเนื่อง ผลผลิตวัตถุดิบสินค้าเกษตรในปีการผลิต 2560/61 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำฝนและนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล

โดยสินค้าที่คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ข้าว ไก่ น้ำตาลทราย กุ้ง และทูน่ากระป๋อง ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะมีมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มะพร้าว (+17.6%) แป้งมันสำปะหลัง, อาหารพร้อมรับประทาน (+10.0%), กุ้ง (+9.3%), น้ำตาลทราย (+6.8%), เครื่องปรุงรส (+6.8%) ไก่ (+6.6) และน้ำผลไม้ (+6.6%)

สำหรับในปี 2561 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม ได้แก่ การแข็งค่าของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 ราคาพลังงานที่สูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนสินค้าและค่าขนส่ง แนวโน้มการขาดแคลนแรงงานทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม และต้นทุนแรงงานมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นอกจากนี้ สำหรับการก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมอาหาร คือ การผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมตามนโยบายของรัฐ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหาร โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่ภาครัฐ สถาบันอาหาร รวมทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกันผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อผลสำเร็จเป็นรูปธรรมต่อไป

ส่วนภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2560 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.0% สำหรับการส่งออกคาดว่าจะมีปริมาณ 32.5 ล้านตัน มีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.5% และ 5.3% ตามลำดับ ลดลงเล็กน้อยจากตัวเลขประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะส่งออกได้ 33.0 ล้านตัน มูลค่า 1.03 ล้านบาท เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักหลายรายการลดลงกว่าที่คาด โดยเฉพาะกุ้ง ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลัง และน้ำผลไม้ ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาททำ ให้มูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทลดลง แม้ว่ามูลค่าส่งออกในรูปดอลลาร์ จะยังขยายตัว 10%

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศ CLMV ยังคงเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วน 16.6% รองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น 13.5% อาเซียนเดิม 11.6% สหรัฐอเมริกา 10.6%, แอฟริกา 9.3% จีน 9.0% สหภาพยุโรป 6.0% ตะวันออกกลาง 4.2% โอเชียเนีย 3.3% สหราชอาณาจักร 3.0% และเอเชียใต้ 1.6% โดยตลาดส่งออกหลักของไทยส่วนใหญ่ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า ยกเว้น ตลาดอาเซียนเดิม (ASEAN-5) ลดลง 10.7% ตามปริมาณการส่งออกสินค้าหลัก อาทิ น้ำตาลทราย และแป้งมันสำปะหลังที่ลดลง สหรัฐอเมริกา ลดลง 2.3% จากการส่งออกสับปะรดกระป๋อง และปลาทะเลแช่แข็งที่หดตัวลง และสหราชอาณาจักร ลดลง 10.9% จากการเผชิญภาวการณ์ชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการแข็งค่าของค่าเงินปอนด์เทียบบาท

“แม้ว่าสินค้าส่งออกหลักหลายรายการจะชะลอตัวลง แต่ก็มีสินค้าส่งออกกลุ่มใหม่ๆ ที่ขยายตัวสูงและคาดว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าดาวเด่นของไทยในอนาคต ได้แก่ กลุ่มผลไม้สดไม่รวมผลิตภัณฑ์มะพร้าว ปัจจุบันมีมูลค่าตลาด 72,340 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 ปีล่าสุด (+23%) เครื่องดื่มชูกำลัง 22,520 ล้านบาท (+10%) ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ 13,533 ล้านบาท (+11%) นม 10,469 ล้านบาท (+6%) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่รวมวิตามิน 3,201 ล้านบาท (+6%) และไอศกรีม 2,122 ล้านบาท (+5%) โดยสินค้าส่วนใหญ่มีตลาดหลักอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ทั้งนี้ ทั้ง 3 องค์กร จะร่วมกันผลักดันสินค้าในกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ทั้งนี้ ทั้ง 3 องค์กร จะร่วมกันผลักดันสินค้าในกลุ่มใหม่ๆ ที่มีศักยภาพมากขึ้น”