GISTDA สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม 5ปี ทะลุ 1.1 หมื่นล้าน

GISTDA

GISTDA เผยผลประเมินมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมจากภารกิจด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศ 5 ปี (59-63) ทะลุ 1.1 หมื่นล้าน ชี้แนวโน้มปี 2565 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

วันที่ 25 เมษายน 2565 ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดเผยว่า ได้ทำการประเมินมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมหรือ Social Impact Assessment : SIA ที่เกิดจากการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ รวม 41 โครงการ/แผนงานในช่วงปีงบประมาณ 2563 แบ่งเป็นโครงการในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 32 โครงการและแผนงานสนับสนุน 9 แผนงาน มีมูลค่ารวมที่เกิดขึ้นเท่ากับ 3,086.50 ล้านบาท

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์

ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับจากปี 2559 มีมูลค่ารวม 569.85 ล้านบาท ปี 2560 มีมูลค่ารวม 2,528.55 ล้านบาท ปี 2561 มีมูลค่ารวม 2,691.72 ล้านบาท ปี 2562 มีมูลค่ารวม 2,823.08 ล้านบาท รวมจาก ปี 2559-2563 มีมูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท

โดยผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน หรือที่เรียกว่า Social Return on Investment : SROI เท่ากับ 1 : 1.50 หมายความว่า จำนวนเงินงบประมาณการดำเนินงานโครงการของ GISTDA ที่ใช้งบประมาณไปทุก ๆ 1 บาท จะเกิดผลตอบแทนกลับมาในรูปของมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมหรือสร้างประโยชน์ทางสังคมเป็นจำนวน 1.50 บาท สร้างคุณค่าที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน

โดยโครงการและแผนงานที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมมาเป็นอันดับ 1 ได้แก่ ด้านการจัดการภัยพิบัติ ตามด้วยด้านการจัดการเกษตร ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการจัดการน้ำ ด้านการจัดการผังเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ และด้านความมั่นคงของรัฐและสังคม ตามลำดับ

Advertisment

นอกจากนี้ GISTDA ยังได้ประเมินความคุ้มค่าโครงการในปี 2564 บางโครงการโดยอ้างอิง CIPP Model ในการประเมินความสำเร็จของโครงการ ประกอบกับพิจารณาจากผลการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน หรือ SROI และผลการประเมินความสำเร็จของโครงการในภาพรวม ได้แก่ โครงการระบบบริหารสถานการณ์รองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบที่ 2, โครงการพัฒนาระบบบริหารวิกฤตและการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าเชิงพื้นที่, และแผนการดำเนินงานโครงการสร้างคุณค่าจากระบบภูมิสารสนเทศแบบองค์รวม

ผลการศึกษาชี้ชัดว่าทั้ง 3 โครงการมีผลการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน เท่ากับ 1 : 2.54  1 : 2.21 และ 1 : 6.42 ตามลำดับ นับได้ว่าทั้ง 3 โครงการมีความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการ นอกจากนั้นแล้วผลการประเมินโครงการในภาพรวมทั้ง 3 โครงการได้คะแนน 96 94 และ 92 คะแนนตามลำดับจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน

สำหรับการประเมินครั้งนี้ ใช้ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการประเมินมาใช้ในการกำหนดแผนงานหรือโครงการในปีงบประมาณในอนาคต อีกทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสนองตอบประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่องค์กรแห่งคุณค่าการประเมินผลลัพธ์และผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน

Advertisment

มีขั้นตอนการดำเนินการเก็บข้อมูลโดยการเลือกแบบเจาะจง เฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการของ GISTDA ในปีงบประมาณ 2563 โดยดำเนินการศึกษาจากการสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นรายบุคคล วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยสถิติพื้นฐาน

ได้แก่ ค่าความถี่ และค่าร้อยละ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ เป็นต้น การวิเคราะห์แผนที่ผลลัพธ์ประกอบด้วยปัจจัยนำเข้า กิจกรรม ผลผลิต และหาข้อสรุปเป็นผลลัพธ์ที่เรียกว่า Outcome หรือ Impact การวิเคราะห์ข้อมูลผลลัพธ์ส่วนเกินโดยให้ค่าน้ำหนักการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมที่เกิดขึ้น

ปัจจัยสนับสนุนอื่นที่มีผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ และอัตราการลงหรือคงที่ของผลสัมฤทธิ์ แล้วหามูลค่าตัวแทนทางการเงินของผลลัพธ์ที่แท้จริงเพื่อคำนวณอัตราส่วนผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน หรือ SROI

เกณฑ์ที่นำมาใช้ในการประเมินมูลค่ารายโครงการ อาทิ การนำข้อมูล/เทคโนโลยี/วิธีการใหม่จาก GISTDA มาสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยลดความเสียหาย เพิ่มมูลค่าทางเศษฐกิจ การนำข้อมูลหรือเทคโนโลยีของ GISTDA มาใช้กับงานวิจัยหรือนวัตกรรมที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ของ GISTDA

สำหรับผลงานที่โดดเด่นในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาของปี 2565 (ตุลาคม 2564-มีนาคม 2565) ภารกิจของ GISTDA ได้ดำเนินการ 2 ด้าน คือด้านอวกาศ และด้านภูมิสารสนเทศ ด้านอวกาศ มีโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ THEOS-2 ซึ่งตอนนี้ได้พัฒนาดาวเทียมเล็กหรือที่เรียกว่า THEOS-2A สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทีมนักวิจัยของไทยที่ได้เข้าไปร่วมศึกษา ค้นคว้า และวิจัยร่วมกับทีมวิศวกรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร ซึ่งดาวเทียมเล็กนี้จะเป็นดาวเทียมดวงแรกที่อยู่ในระดับ Industrial Grade และกำลังจะเป็นก้าวที่สำคัญในวงการอวกาศของไทยต่อไป

และได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศเพื่อรองรับการดำเนินงานอย่างครบวงจรในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ space krenovation park อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นั่นคือศูนย์ประกอบทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ หรือ Assembly Integration and Test ที่เรียกสั้น ๆ ว่า AIT ซึ่งจะรองรับการสร้างและทดสอบประกอบดาวเทียมและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีขนาดตั้งแต่ 10 กิโลกรัม ไปจนถึง 500 กิโลกรัม

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาบุคลากรด้านการสร้างดาวเทียม และ พัฒนาระบบ Software ที่มีชื่อว่า “เซอร์คอน” หรือ Zircon ซึ่งเป็นระบบโดยใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์การจัดการจราจรทางอวกาศ เพื่อติดตามการเคลื่อนที่ของวัตถุอวกาศ ทำให้สามารถคาดการณ์ทิศทางของวัถตุเหล่านั้นได้

นอกจากนี้ยัง GISTDA ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก หรือ Committee on Earth Observation Satellite ที่เรียกสั้น ๆ ว่า CEOS ซึ่งเป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐของทุกประเทศที่ดำเนินงานในด้านของกิจการอวกาศ

ส่วนผลงานด้านภูมิสารสนเทศ GISTDA มีนโยบาย GI FOR ALL ที่จะมุ่งเน้นใช้เทคโนโลยี ข้อมูล และระบบ ให้สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ และบริหารจัดการในเชิงนโยบาย โดยพัฒนาและ แอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” มีให้ดาวน์โหลดทั้ง IOS และ Andorid ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างง่าย ๆ ด้วยตัวเอง อัพเดตตลอดเวลาในการติดตามค่าฝุ่นละออง PM 2.5 โดยแอปพลิเคชั่นนี้เป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานอื่น ๆ โดยประชาชนสามารถใช้งานได้ฟรี

ผลงานต่อมาคือความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. ที่เราจะพัฒนาระบบร่วมกันและใช้เป็นวอร์รูมเดียวกันในการบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศในด้านต่าง ๆ ได้อย่าง Near Realtime ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลน้ำท่วม ข้อมูลไฟป่า ข้อมูลดินสไลด์ และจะพัฒนาเป็นรูปแบบเรียลไทม์ในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ ซึ่งกรมราชทัณฑ์เองก็มีความสนใจที่จะใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ของทางกรมทั่วประเทศกว่า 140 แห่ง อีกทั้งทาง GISTDA กำลังพัฒนาระบบ Open Platform ที่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ได้หลากหลายเรื่อง ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้งานเร็ว ๆ นี้