เปิดสถานการณ์จ้างงานปี 61 ภาคบริการมาแรง อาชีพไหนยอดฮิตทั้งรัฐ-เอกชน

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์ตลาดแรงงานสิ้นสุด ณ เดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา มีผู้อยู่ในกำลังแรงงานประมาณ 38.28 ล้านคน ผู้มีงานทำ 37.72 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขผู้ว่างงานอยู่ที่ 4.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 อย่างไรก็ตาม สำหรับความต้องการแรงงานนั้น พบว่านายจ้างแจ้งความต้องการกับกรมการจัดหางาน 27,372 อัตรา ขณะที่สถานประกอบการ 67 แห่ง ต้องการแรงงาน 825 อัตรา โดยมีผู้สมัครงานกับกรมการจัดหางาน 9,705 คน มีผู้ได้รับการบรรจุ 21,079 คน แต่ก็พบว่ามีคนไทยไปทำงานต่างประเทศเช่นกัน โดยแรงงานไทยแจ้งความประสงค์จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศในเดือนตุลาคม 2560 มีจำนวน 4,532 คน และที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศในเดือนตุลาคม 2560 จำนวน 5,216 คน

นายอนุรักษ์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลที่ผ่านมาประมาณการณ์ความต้องการแรงงานรายภาคการผลิตในปี2558-2562 ความต้องการแรงงานภาพรวมยังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในอัตราการขยายตัวที่ต่ำ โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยตลอดช่วงปีประมาณร้อยละ 0.53 ความต้องการแรงงานในแต่ละปีมีจำนวนดังต่อไปนี้ ปี 2558 จำนวน 37.99 ล้านคน ปี 2559 จำนวน 38.29 ล้านคน ปี 2560 จำนวน 38.58 ล้านคน ปี 2561 จำนวน 38.81 ล้านคน และปี 2562 จำนวน 38.80 ล้านคน

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า ความต้องการแรงงานยังคงรูปแบบเดียวกับช่วงเวลาที่ผ่านมา คือ ภาคบริการจะเป็นภาคที่มีจำนวนแรงงานมากที่สุด มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 1.75 เป็นอัตราที่มีการขยายตัวมากที่สุด ซึ่งจากการประมาณการความต้องการแรงงานในแต่ละปี มีจำนวนดังนี้ ปี 2558 จำนวน 16.87 ล้านคน ปี 2559 จำนวน 17.23 ล้านคน ปี 2560 จำนวน 17.58 ล้านคน ปี 2561 จำนวน 17.90 ล้านคน และปี 2562 จำนวน 18.08 ล้านคน ส่วนภาคที่มีการจ้างงานรองลงมา คือ ภาคเกษตรกรรม จากการประมาณการจำนวนความต้องการมีจำนวนลดลง โดยคิดเป็นอัตราการลดลงประมาณร้อยละ 0.85 ประมาณการการจ้างงานในแต่ละปี คือ ปี 2558 จำนวน 12.40 ล้านคน ปี 2559 จำนวน 12.31 ล้านคน ปี 2560 จำนวน 12.22 ล้านคน ปี 2561 จำนวน 12.12 ล้านคน และปี 2562 จำนวน 11.99 ล้านคน

นาย อนุรักษ์ กล่าวว่า ขณะที่ภาคการผลิต หรือภาคอุตสาหกรรม เป็นภาคที่มีการจ้างงานน้อยที่สุด ซึ่งจากการประมาณการความต้องการในอนาคตามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 0.02 ประมาณการการจ้างงานในแต่ละปี คือ ปี 2558 จำนวน 8.72 ล้านคน ปี 2559 จำนวน 8.75 ล้านคน ปี 2560 จำนวน 8.78 ล้านคน ปี 2561 จำนวน 8.78 ล้านคน และปี 2562 จำนวน 8.72 ล้านคน

“สรุป ได้ว่าภาคการบริการมีความต้องการด้านแรงงานสูงที่สุด ยิ่งธุรกิจการท่องเที่ยวยิ่งต้องการมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านร้านอาหาร ร้านค้า โรงแรม ต่างต้องการแรงงานด้านบริการทั้งสิ้น ซึ่งในปี 2561 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ประเภทที่รัฐบาลพยายามผลักดันจะเป็นแหล่งดึงดูดแรงงานให้เข้าไปทำงาน โดยเฉพาะด้านการเกษตรและการท่องเที่ยวที่ปัจจุบันมีจำนวนแรงงานอยู่ใน 2 ภาคนี้ร้อยละ 80 ของผู้มีงานทำทั้งประเทศ อีกทั้ง การส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในปีหน้าจะเริ่มเห็นรูปแบการจ้างงานที่ปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี มีการใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีมากขึ้น กระบวนการทำงานของแรงงานจะทำงานกับนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น เช่น ตลาดการซื้อขายออนไลน์จะขยายตัวให้เห็นมากขึ้น ส่งผลด้านการจ้างงานในกิจการโลจิสติสขยายตัวอย่างมาก และจะเห็นว่าเด็กนักศึกษาจบใหม่ต่างก็มุ่งธุรกิจของตนเองมากขึ้น เปิดธุรกิจออนไลน์ของตัวเองมากขึ้น หรือแม้แต่พนักงานออฟฟิสก็หันมาประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น” อธิบดีกกจ.กล่าว

นาย อนุรักษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มอาชีพยอดนิยมในปี 2561 นั้น ได้มีการประเมินจากอาชีพที่มีความต้องการในปี 2560 ซึ่งคาดว่าจะไม่แตกต่างมาก โดยรวบรวมจากบริษัทจัดหางานต่างๆ 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.งานขาย/บริการลูกค้า 130,762 คน 2. วิศวกร/ช่างเทคนิค 92,617 คน 3. งานธุรการ งานทรัพยากรบุคคล 74,816 คน 4. บัญชี 45,833 คน 5. ไอที/คอมพิวเตอร์ 45,401 คน 6. การตลาด 42,837 คน 7. ฝ่ายผลิต/ผลิตภัณฑ์ 35,802 คน 8. งานท่องเที่ยว งานโรงแรม 32,661 คน 9. การเงิน 27,020 คน 10. งานขนส่ง 24,737 คน นอกจากนี้ สำหรับอาชีพที่หน่วยงานภาครัฐมีความต้องการในปี 2560 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. ครูผู้ช่วย 8,802 คน 2. นายช่างโยธา 2,576 คน 3. เจ้าพนักงานธุรการ 2,359 คน 4. เจ้าพนักงานพัสดุ 2,050 คน 5. เจ้าพนักงานการเงินและบัญชี 1,713 คน 6. นักวิชาการศึกษา 1,510 คน 7. เจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้ 1,372 คน 8. นิติกร 1,009 คน 9. พยาบาลวิชาชีพ 929 คน และ10. อาจารย์ (ระดับมหาวิทยาลัย) 891 คน

นายอนุรักษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ แนวโน้มอาชีพที่มีความต้องการมากใน 10 ปีข้างหน้า หากดูตามทิศทางการเปลี่ยนของอาชีพที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า 10 อาชีพที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นมาก ได้แก่ 1. ผู้ติดตั้งแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ 2. ช่างเทคนิคด้านพลังงานลม 3. ผู้ดูแลสุขภาพตามบ้าน 4. ผู้ดูแลส่วนบุคคล 5. ผู้ช่วยแพทย์ 6. พยาบาล 7. นักสถิติ 8. นักกายภาพบำบัด 9. ผู้ผลิตโปรแกรมและแอพพลิเคชั่น และ10. นักคณิตศาสตร์ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญจะต้องมีการพัฒนาทักษะแรงงานให้มีประสิทธิภาพยิ่วขึ้น โดยร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการตลาดแรงงานด้วย

 


ที่มา มติชนออนไลน์