ศาลปกครองยกฟ้องคดี รพ.เอกชน ขอถอน “ยา-ค่ารักษา” เป็นสินค้าควบคุม

ที่มาภาพ: มติชนออนไลน์

ผู้บริโภคชนะคดี ‘ศาลปกครองสูงสุด’ ยกฟ้องคดี ‘สมาคม รพ.เอกชน-พวก ร้องเพิกถอนประกาศให้ “ยา-ค่ารักษา” เป็นสินค้าควบคุม หลังต่อสู้ 4 ปี

วันที่ 15 มิถุนายน 2565 วานนี้ (14 มิ.ย.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ สมาคมโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลเอกชน 41 แห่ง ร่วมกันฟ้องคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รมว.พณ.) ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ยื่นฟ้องขอเพิกถอนประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่กำหนดให้ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรคเป็นสินค้าควบคุม และกำหนดให้บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรคเป็นบริการควบคุม

นางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่วันนี้ศาล พิพากษายกฟ้อง คดีสมาคมโรงพยาบาลเอกชน-พวก’ ขอเพิกถอนประกาศ ‘กกร.’ กรณีประกาศให้ยา-เวชภัณฑ์-ค่ารักษาพยาบาล-บริการทางการแพทย์’ เป็นสินค้าควบคุม ซึ่งต่อสู้มาร่วม 4 ปี ตั้งแต่ปี ตั้งแต่ปี 2562 – 2565

“แสดงให้เห็นว่าพลังของผู้บริโภคนั้น มีความหมาย สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง “

โดยคำวินิจฉัยของศาลนั้น ให้ความสำคัญกับความเดือดร้อนของประชาชนได้รับผลกระทบจากค่ารักษาพยาบาลแพง และเมื่อมีการร้องเรียนไปที่หน่วยงานรัฐ ซึ่งรัฐมีการจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ภาครัฐและภาคเอกชนรวมถึงมูลนิธิฯในฐานะตัวแทนภาคประชานหลายครั้ง พบว่ายังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปกำกับดูแลควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้เป็นธรรมได้ ศาลจึงวินิจฉัยว่า

การออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2562 เรื่อง การกำหนดราคาสินค้าและบริการควบคุม ลงวันที่ 22 ม.ค.2562 โดยข้อ 3 (13) (14) และ (50) กำหนดให้ยารักษาโรค เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรครวมทั้งบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค เป็นสินค้าและบริการควบคุม จึงเป็นการทำหน้าที่ที่สมเหตุสมผล ต่อไปนี้เราวางแผนเดินหน้าในเรื่องนี้ต่อ ในเรื่องโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม ราคาเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายมีข้อตกลงร่วมกัน มีความเห็นชอบร่วมกัน ทั้งในส่วนของผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล

ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพาย้อนไปดูเส้นทางการต่อสู้เรื่องนี้กันอีกครั้ง จากกรณีที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน 41 แห่ง ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน ต่อศาลปกครองสูงสุด

และขอให้ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม โดยเฉพาะการควมคุมราคายา เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาล รวมทั้งมีคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศดังกล่าวนั้น เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนผู้บริโภคทั่วประเทศร้องสอดร่วมเป็นผู้ถูกฟ้องกับกระทรวง

ทั้งนี้ สามารถอ่านรายละเอียดต่อที่ https://www.consumerthai.org/consumers-news/consumers-news/food-and-drug/4350-620617_medical.html )

จนกระทั่ง วันที่ 28 มิถุนายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมเป็นผู้ถูกฟ้อง โดยให้เป็นผู้ร้องสอด เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า มพบ. เป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง จึงถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการยกเลิกประกาศดังกล่าว

โดยหลังจากนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะทำคำให้การ พยานหลักฐาน พร้อมด้วยสำเนาไปยื่นต่อศาลภายใน 30 วัน โดยอ่านรายละเอียดต่อได้ที่ ผู้บริโภคเรียกร้อง สธ.ตรวจสอบค่ารักษา และ ก.พาณิชย์คุมค่ารักษาพยาบาล เรียกร้องไปแพทยสภาตั้งคณะทำงานตรวจสอบมาตรฐานค่าวิชาชีพแพทย์

และเรียกร้องไปยัง กระทรวงสาธารณสุขและ สนช. ออกมีกฎหมายตั้งคณะกรรมการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบสาธารณสุขแบบ one stop service https://www.consumerthai.org/consumers-news/medicalnews/4357-620628_medicalprice.html)