ประชารัฐ D2-D6 ชูเป้าปี”61 หนุน SMEs ดัน ศก.ชุมชน

ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ กลาง เล็ก รวมถึงสถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม เพื่อประสานบูรณาการในการทำงานร่วมกันในนามของ “คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ” จำนวน 12 ชุด ซึ่งเริ่มเดินเครื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ถึงวันนี้คณะกรรมการแต่ละชุดได้ขับเคลื่อนการทำงานเริ่มเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นในหลายพื้นที่

Big Brother Season 2

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชนกลุ่มประชารัฐ ด้านการส่งเสริม SMEs และผลิตภาพ (คณะ D2) กล่าวว่า การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในปี 2561 คณะ D2 มีโครงการ Big Brother Season 2 ซึ่งเป็นความร่วมมือกับพี่เลี้ยง 25 บริษัท ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เป็นโครงการต่อเนื่อง ที่จัดทำโดย Thailand Smart Center หอการค้าไทย

โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อต้องการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เติบโต และแข่งขันในตลาดได้ โดยมีบริษัทพี่เลี้ยงเป็นผู้แนะนำและคอยช่วยเหลือ ซึ่งโครงการที่ผ่านมาในภาพรวมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถสร้างรายได้เติบโตถึง 500 ล้านบาท ในปีนี้จึงต้องการเดินหน้าโครงการต่อไป

สร้างมูลค่าการค้า 500 ล.

Advertisment

สำหรับการดำเนินโครงการ Big Brother Season 1 ซึ่งได้เริ่มครั้งแรกในต้นปี 2560 ได้คัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีความพร้อม ความสามารถในการเข้าอบรมให้ความรู้ในการพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันในตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เหมาะสมกับตลาดและความต้องการของผู้บริโภคประมาณ 50 ราย ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสามารถสร้างมูลค่าการค้าได้ถึง 500 ล้านบาท ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก มีบริษัทรายใหญ่ที่ทำตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเป็นพี่เลี้ยงเข้าร่วมโครงการ 14 ราย อาทิ บริษัทสิงห์คอร์เปอเรชั่น บริษัท SCG กลุ่มน้ำตาลมิตรผล บริษัทไทยเบฟ บริษัทซีพี ออลล์ เป็นต้น

“หากรายใดมีความพร้อมที่จะทำตลาดในต่างประเทศได้ จะมีการคัดเลือกและผลักดันผู้ประกอบการรายนั้นออกไปทำตลาดในต่างประเทศด้วยในหลายรูปแบบ เช่น ส่งออก เจรจาการค้า นำสินค้าไปขายในบริษัทที่พี่เลี้ยงทำตลาดอยู่แล้ว เป็นต้น”

ดีเดย์คัดเลือก ก.พ. 61

ทั้งนี้ ผลจากความสำเร็จที่ผ่านมาจึงต้องการผลักดันโครงการต่อเนื่องในซีซั่น 2 โดยมีเป้าหมายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะเข้าร่วมประมาณ 250 ราย และมีบริษัทใหญ่หลายรายตอบรับเข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยงเพิ่มขึ้นเป็น 25 บริษัท รวมถึงมีพี่เลี้ยงในกลุ่มของธนาคารตอบรับเข้าร่วมด้วย เช่น ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น โดยคณะ D2 จะเปิดรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการในเดือนมกราคม 2561 และคาดว่าจะคัดเลือกอบรมได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561

Advertisment

นายกลินท์กล่าวอีกว่า ในการดำเนินการโครงการในปี 2561 ได้ขยายทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พี่เลี้ยงที่เข้าร่วมโครงการให้มากขึ้น เนื่องจากต้องการขยายการดูแลผู้ประกอบการไปในกลุ่มต่าง ๆ เช่น ด้านการค้า การลงทุน ด้านอาหารและเครื่องดื่ม ด้านเกษตร ด้านท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมีความหลากหลายในธุรกิจ ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบโจทย์ให้กับผู้ที่สนใจ จึงต้องการขยายกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตและเป็นที่สนใจของตลาด

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับคำแนะนำจากบริษัทพี่เลี้ยงอย่างต่อเนื่องระยะ 1 ปีของโครงการ ซึ่งจะมีการพัฒนาผู้ประกอบการในแต่ละด้านจากบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านเช่นกัน เป้าหมายเพื่อให้สามารถทำตลาดและมีธุรกิจที่เติบโตอย่างเข้มแข็ง และหากรายใดมีความพร้อมและความสามารถอาจจะขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศ ตามช่องทางที่บริษัทพี่เลี้ยงมีการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงโครงการดังกล่าวเข้าสู่โครงการที่ภาครัฐดำเนินการอยู่ด้วย เช่น พี่จูงน้อง เป็นต้น เพื่อผลักดันการส่งออกไปตลาดต่างประเทศต่อไป สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลและส่งใบสมัครได้ที่ Thailand SMART Center หอการค้าไทย

ปี”60ทำแปลงใหญ่ 1.5 แสนไร่

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานอาวุโส บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ กลุ่ม D6 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เร็ว ๆ นี้คณะทำงานจะได้หารือกับ นายกฤษฎาบุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คนใหม่เป็นครั้งแรก ถึงแนวทางการเดินหน้าเกษตรแปลงใหญ่ และร่วมผนึกนโยบายต่อ เติม แต่ง ซึ่งผลการดำเนินงานแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ปี 2560 สามารถทำกำไรได้เพิ่ม 630 ล้านบาท พื้นที่ 156,711 ไร่ จำนวน 85 แปลง จากคณะอนุกรรมการพัฒนาเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และอยู่ใน 2,819 แปลงใหญ่ ที่จะได้รับการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมพื้นที่

โดยสรุปล่าสุดมีภาคเอกชนเข้าร่วมทั้งสิ้น 20 บริษัท ประกอบด้วย บ.มิตรผล, ไทยเบฟ, คูโบต้า, ไทยวา, ซีพีไอ, บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง, ราชสีมากรีน, แดรี่โฮม, ซีพีเอฟ, เบทาโกร ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น, ซีแวลู่, หอการค้าไทย, ไทยนำ, ซันสวีท, อุตสาหกรรมน้ำตาล, ที.เอ็น., สมาคมอุตสาหกรรมผลิตอาหารนมไทย (ดัชมิลล์ ซีพี เมจิ) และฟรีสแลนด์คัมพิน่า โดยใช้ 3 แนวทาง ดูความต้องการของตลาดมานำการผลิต พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพ และลดต้นทุนการผลิต

ตั้งเป้า ปี”61 ขยายพื้นที่ 20%

ส่วนแผนดำเนินงานปี 2561 จะขยายผลแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่เพิ่มขึ้นอีก 20% เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน 20% โดยจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของเกษตรกร อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของโครงการเกิดจากเอกชนใช้ตลาดนำการผลิต ใช้เทคโนโลยีในการจัดการ แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดคือการจัดสรรแหล่งน้ำที่เพียงพอ ที่ผ่านมาไม่ครอบคลุมในพื้นที่ที่เข้าดำเนินการรวมถึงการพัฒนา smart farmer ผ่านกลไกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) นั้นการดำเนินการลักษณะ top down ไม่สามารถยกระดับเกษตรกรให้เป็น smart farmer ได้ เพราะยังขาดการมีส่วนร่วมระหว่างกัน ประกอบกับศูนย์เรียนรู้ 882 ศูนย์เป็นกลไกสำคัญเพราะครอบคุลมทุกพื้นที่ แต่ยังขาดองค์ความรู้ข้อมูลวิชาการและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยถ่ายทอด และรัฐต้องจัดสรรงบฯให้เหมาะสมและสร้างระบบศูนย์กลางเพื่อจัดเก็บฐานข้อมูลการผลิต มาตรฐานสินค้า การตลาด บรรจุภัณฑ์ที่เข้าถึงได้ด้วย

นายอิสระกล่าวต่อไปว่า ปัญหาการนำที่ดินที่ติดขัดตามกฎหมาย แต่มีศักยภาพเหมาะสมในการทำเกษตรมาจัดสรรให้เกษตรกร รัฐต้องให้สิทธิการเช่าแก่เกษตรกรให้มากขึ้น ส่วนแนวทางยกระดับรายได้ฐานรากจากภาคเกษตรนั้น ปีหน้า 2561 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้เน้นเรื่องของพื้นที่เป็นหลัก คือ ต้องกำหนด area based ให้ได้ว่า พื้นที่ไหนคนมีรายได้น้อย ซึ่งอยู่ระหว่างหารือพื้นที่เป้าหมาย

“แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนหัวหน้าคณะทำงาน คือท่านรัฐมนตรี ก็ไม่ได้ทำให้แผนล่าช้า ภาคเอกชนยังคงสนับสนุนนโยบายแปลงใหญ่ประชารัฐ ซึ่งปี 2560 ประสบความสำเร็จค่อนข้างน่าพึงพอใจ มีเอกชนชนเข้าร่วมกว่า 20 ราย เพิ่มมูลค่าได้ 600 กว่าล้านบาท โดยเฉพาะด้านข้าว ปี 2561 จะต้องยกระดับภาคเกษตรจะต้องเน้นผลักดันและส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น ชุมชนใช้ตลาดเป็นตัวนำ รวมทั้งผลิตสินค้าคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และต้องดึงเอสเอ็มอีเข้ามาร่วมให้มากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รวมทั้งการจัดการเรื่องบริหารจัดการองค์ความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถสู่ “smart farmer” ให้มากขึ้น”