สหรัฐ-จีนเดือด ไม่กระทบประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค

ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค

ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022 เอกชนเชื่อปัญหาการเมืองระหว่างประเทศไม่กระทบ ยังมั่นใจผู้นำชาติยักษ์ใหญ่ สหรัฐ-จีน-รัสเซีย ตอบรับเข้าร่วม มองปัญหาการเมืองไม่เกี่ยวข้องกับเวทีเศรษฐกิจ แต่ยอมรับว่ากระทบต่อการค้า-การลงทุน พร้อมยื่น 5 ข้อเสนอสำคัญเข้าที่ประชุม

วันที่ 4 สิงหาคม 2565 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 เปิดเผยว่า การประชุมเอเปค 2022 (อังกฤษ: APEC Thailand 2022) หรือการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ยังเชื่อมั่นว่าการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ที่มีสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ จะเข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะผู้นำสหรัฐซึ่งจะรับไม้ต่อในการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมสุดยอดผู้นำประชุมเอเปคในปี 2023 ต่อไป

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

โดยขณะนี้ประเทศไทยก็อยู่ระหว่างการติดตามการตอบรับเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งจากสหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย รัสเซียเองก็ตาม ซึ่งเชื่อว่าจะชัดเจนในการตอบรับเข้าร่วมประชุมในช่วงเวลาใกล้ ๆ เนื่องจากเป็นการประชุมระดับผู้นำ จึงให้ความสำคัญเรื่องของความปลอดภัย และคาดหวังว่าผู้นำของแต่ละประเทศจะเข้าร่วมประชุมเพื่อร่วมประชุมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สภาวะเงินเฟ้อ พลังงาน รวมไปถึงโลกร้อน

อีกทั้งมองว่า จากกรณีปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะล่าสุดปัญหาระหว่างสหรัฐ-จีน ในกรณีที่มีการเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครต โดยส่งผลต่อความไม่พอใจของจีน ซึ่งเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค แต่ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงเห็นว่าเวทีเอเปคจะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้นำแต่ละประเทศเข้ามาประชุมร่วมกันเร่งแก้ไขความเดือดร้อนที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบ ทั้งสภาพเศรษฐกิจ สภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบไปในทั่วโลก แม้แต่ยุโรปและสหรัฐเองก็ตาม

อย่างไรก็ดี เห็นว่าจากความตึงเครียดที่เกิดขึ้น คิดว่าผู้นำในแต่ละประเทศน่าจะใช้เวทีนี้ในการร่วมรับฟังและระดมความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาเรื่องของสภาพภูมิอากาศ โลกร้อน และพร้อมกันนี้ ตามธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับเจ้าภาพการประชุมครั้งต่อไปในปี 2566 ประเทศต่อไปจะต้องเข้ามารับไม้ต่อ ซึ่งก็คาดหวังว่าผู้นำสหรัฐจะเข้าร่วมประชุม ส่วนความขัดแย้งทางการเมืองไม่เกี่ยวข้องกับเวทีทางเศรษฐกิจ และข้อตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เชื่อว่าก็ยังคงเดินหน้าต่อไป

สมาชิกรวม 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม

นอกจากนี้ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ได้ยกวาระเร่งด่วน 5 ประการอันเป็นส่วนหนึ่งของ 5 กลยุทธ์หลักของคณะทำงาน เพื่อส่งมอบต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อันได้แก่

1.Regional Economic Integration : เส้นทางสู่เขตการค้าเสรีของเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการค้าภาคบริการ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคเห็นว่า FTAAP ควรตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระดับโลกที่ค่อย ๆ พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป จึงเห็นควรในการพัฒนาแผนงานนี้ต่อไปเพื่อให้วาระนี้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม และในขณะเดียวกัน นวัตกรรมจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตในภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคบริการผ่านการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมนวัตกรรม โดยเฉพาะเกี่ยวกับบริการดิจิทัลที่สนับสนุนอีคอมเมิร์ซ, บริการทางโลจิสติกส์, บริการด้านสุขภาพ และบริการด้านสิ่งแวดล้อม

2.Digital-การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์และดิจิทัล แนวทางการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สอดคล้องและบูรณาการ นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และนับเป็นความสามารถในการปกป้องความก้าวหน้าและนวัตกรรมต่าง ๆ คณะทำงานจึงขอเรียกร้องให้เอเปคสร้างแพลตฟอร์มในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับภูมิภาค ที่จะประสานการดำเนินการและการลงทุนด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ร่วมกัน

3.MSME and Inclusiveness-การเสริมสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนของ MSMEs ด้วย MSMEs มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จึงเห็นควรในการพัฒนามาตรการเพื่อสนับสนุนการเติบโตนี้อย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบการทำงานและการค้าระดับโลก โดยมาตรการดังกล่าว หมายรวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง การบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่คุณค่า และการสนับสนุนในมาตรการนี้ให้เป็นสากล

4.Sustainability-ส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น ผู้ผลิตและผู้บริโภคในภูมิภาคกำลังได้รับผลกระทบครั้งประวัติศาสตร์จากราคาอาหารโลกที่พุ่งสูงขึ้น และภาวะการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตร คณะทำงานจึงเร่งดำเนินการแผนงานความมั่นคงด้านอาหารของ APEC สู่ปี 2030 และให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาและการดำเนินการตามแผนดิจิทัลความมั่นคงด้านอาหาร ในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต การจำหน่ายและการค้า ตลอดจนการนำ Bio-Circular-Green (BCG) มาปรับใช้

5.Finance and Economics-การดำเนินการตามมาตรการเศรษฐกิจมหภาค การคลัง และการเงิน เพื่อเร่งการฟื้นตัว และการระบุการปฏิรูปโครงสร้างหลัก เพื่อเพิ่มผลผลิตและการเติบโต คณะทำงานเห็นความสำคัญของการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ และนโยบายทางการเงินด้านอัตราค่าจ้างแรงงาน โดยในระยะยาว คณะทำงานเชื่อว่ารัฐบาลควรปฏิบัติตามสองเป้าหมาย คือการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง และการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างในการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัลและความยั่งยืนอย่างครอบคลุม

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์
พจน์ อร่ามวัฒนานนท์

“เสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวทางความร่วมมือในระดับภูมิภาค ด้วยมาจากความต้องการที่แท้จริงของผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกระดับ และเราเชื่อมั่นว่าจะเป็นแนวทางในการช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกภาคส่วนต่อไป”

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ของไทย และประธาน APEC CEO Summit 2022 กล่าวว่า สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคยังเรียกร้อง การผลักดันเรื่องความยั่งยืนทางด้านอาหารที่นำเทคโนโลยีและ BCG มาปรับใช้ ให้เพิ่มความพยายามขึ้นเป็นสองเท่า เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และยับยั้งข้อห้ามและข้อจำกัดต่าง ๆ ในการส่งออกและการร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่างกันมากขึ้นในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับระบบนิเวศอาหาร เพื่อให้มั่นใจว่าภาคเอกชนสามารถมีบทบาทสำคัญในความร่วมมือด้านนโยบายของเอเปคเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างมากในอนาคตด้วย

นายกอบศักดิ์ ดวงดี สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ของไทย กล่าวว่า เรามีความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีจะเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเติบโตให้กับภูมิภาคของเรา ดังนั้น การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการค้าจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน

กอบศักดิ์ ดวงดี
กอบศักดิ์ ดวงดี

อาทิ การจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรักษาความปลอดภัยของระบบดิจิทัล (Cybersecurity) เสริมโครงสร้างข้อมูลพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการค้าดิจิทัล (Data Infrastructure for Digital Trade) การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย (MSMEs) ในการใช้เทคโนโลยี และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการชำระเงินในตลาดดิจิทัล (Digital Market Infrastructure) ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและยกระดับมาตรฐานบริการของภาคเอกชนในภูมิภาค การประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ครั้งที่ 3 ได้ปิดท้ายลงอย่างงดงาม ท่ามกลางความมุ่งมั่นในการยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนเอเชีย-แปซิฟิก สู่ความมั่งคั่ง เติบโต และความเป็นอยู่ที่ดีร่วมกันอย่างยั่งยืน