สจล.สร้าง “ยุววิศวกร” ปั้นคนอาชีวะ ป้อนอุตสาหกรรม

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ดึงโมเดล KOSEN จากประเทศญี่ปุ่นสร้างหลักสูตรยุววิศวกร เพื่อผลิตนักเรียนอาชีวะหัวกะทิเสิร์ฟตลาดแรงงาน โดยเฉพาะ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

“ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่าโจทย์ใหญ่ของภาคการศึกษาไทยขณะนี้ ไม่เพียงต้องเร่งพัฒนาหลักสูตรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แต่ต้องวางแผนการผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับทิศทางของการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ผู้เรียนนำความรู้ไปเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและโรดแมปชาติ

“แนวทางดังกล่าวต้องขยายผลให้ครอบคลุมนักเรียนทุกกลุ่ม ทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษา ซึ่ง สจล.ในฐานะสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงดำเนินแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาเพื่อความยั่งยืน ด้วยการสร้างหลักสูตรยุววิศวกร โดยใช้รูปแบบเดียวกับโคเซ็น (KOSEN National Institute of Technology) ของประเทศญี่ปุ่นคือจะเปิดรับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้าศึกษาต่อที่ สจล. เป็นระยะเวลา 5 ปี”

ทั้งนั้น จะเริ่มรับนักเรียนรุ่นแรกในปีการศึกษา 2561 นำร่องก่อน 1 สาขาวิชา หลังจากนั้นจะเปิดเพิ่มอีก 4 สาขาวิชา ในปีการศึกษา 2562 รวมเป็น 5 สาขาวิชา วิชาละ25 คน รวม 125 คน ซึ่งหลักสูตรที่เปิดรับได้แก่ 1.วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 2.วิศวกรรมไฟฟ้า 3.ช่างวิศวกรรม 4.วิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ และ 5.วิศวกรรมยานยนต์

สำหรับกระบวนการเรียนการสอนมีรูปแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (problem-basedlearning) การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (project-based learning) การเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการวิจัย (research-based learning) การบูรณาการความรู้ครอบคลุมด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM education) และการร่วมฝึกปฏิบัติงานกับสถานประกอบการและภาคอุตสาหกรรม

การทำงานครั้งนี้อยู่ภายใต้ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และกระทรวงแรงงาน เพื่อยกระดับการผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานใน10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

Advertisment

“นอกจากหลักสูตรยุววิศวกรแล้ว สจล.เตรียมเปิดหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่อง แบบเทียบวุฒิความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทำงาน เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้เพิ่มพูนความรู้ และมีคุณวุฒิที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันยังมีหลักสูตรพัฒนาบุคลากรครู เพื่อปฏิบัติการสอนตามรูปแบบ KOSEN ด้วย อันเป็นการตอกย้ำความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพนักเรียนอาชีวศึกษาครอบคลุมทุกด้าน จนกลายเป็นบุคลากรหัวกะทิเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ยั่งยืน”

“ศ.ดร.สุชัชวีร์” กล่าวเสริมว่า การยกคุณภาพระบบการศึกษาไทยในภาพรวม หลักสูตรการศึกษาต้องมีการเชื่อมโยงองค์ความรู้แขนงต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาที่ผู้เรียนต้องมีองค์ความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญรอบด้าน เพื่อประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการปฏิบัติงาน ภายใต้การบูรณาการข้ามศาสตร์ เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศมีมุมมองกว้างไกล และสามารถทำงานร่วมกับบุคลากรสาขาอาชีพอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ