เปิดตำรา 4 ปี สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งทอ สร้างนักวิทย์สายแฟชั่น

วิทย์ แฟชั่น มธ
ภาพจากเพจ : Science & Technology Thammasat University Official

เปิดตำรา 4 ปี หลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งทอ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนาขึ้นเพื่อสร้าง นักวิทย์สายแฟชั่นโดยเฉพาะ

วันที่ 10 มกราคม 2567 ดร.ธนิกา หุตะกมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) กล่าวว่า หลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งทอ เป็นหลักสูตรสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่มีความชื่นชอบแฟชั่น

โดยเป็นการผสมผสานความรู้ทางด้านการดีไซน์และด้านวิทยาศาสตร์สอนให้รู้ตั้งแต่วัสดุ การคิดค้น และการผลิต ซึ่งโจทย์ของแฟชั่นในปัจจุบัน ไม่ใช่ความสวยงาม แต่ต้องไม่สร้างขยะให้โลก เป็นแฟชั่นเพื่อความยั่งยืน นักวิทย์สิ่งทอเลยเข้ามาตอบโจทย์สิ่งนี้ โดยที่หลักสูตรจะเรียน 4 ปี 

ปี 1 เรียนปูพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะลงลึกรายวิชาของสาขาในปีต่อไป โดยการเรียนวิชาเหล่านี้จะมีความแตกต่างไปจากสมัยที่เรียนตอนมัธยมปลายตรงที่จะมีการทำแล็บ และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้เห็นภาพและเกิดความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียนได้มากขึ้น เช่น ทดลองวัดความคลาดเคลื่อนของคลื่น ทดลองเกี่ยวกับไฟฟ้า แม่เหล็ก เป็นต้น

ส่วนพอขึ้นปี 2 จะได้เริ่มเรียนวิชาพื้นฐานที่ต้องรู้ของเทคโนโลยีสิ่งทอมากขึ้น เช่น วิชาวัสดุสิ่งทอ ที่จะสอนตั้งแต่การวิเคราะห์เส้นใย คุณสมบัติ วิธีการผลิตและปรับปรุงเส้นใย จนถึงการนำไปใช้ประโยชน์ วิชาเทคโนโลยีการผลิตเส้นด้ายและการผลิตผ้าผืน ที่จะได้เข้าใจประเภทและชนิดของเส้นใย เทคโนโลยีที่นำมาใช้ผลิตเส้นด้ายจากใยต่าง ๆ กระบวนการผลิตผ้าทอ ผ้าถัก และหลักการทำงานของเครื่องจักรในการผลิต ที่สำคัญคือในวิชานี้และวิชาเทคโนโลยีการพิมพ์สิ่งทอ จะมีการพาไปศึกษาดูงานจริงนอกสถานที่ด้วย

ต่อด้วย วิชาระบบคิดและความคิดสร้างสรรค์ทางสิ่งทอ ที่จะช่วยพัฒนาแนวคิดที่ทำให้เกิดนวัตกรรมทางสิ่งทอ การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรทางสิ่งทอ จนถึงการทำรายงานและนำเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้เรียน เพราะเมื่อเรียนในปีที่สูงขึ้นจะมีการวิจัย สร้างผลงานหรือนวัตกรรมทางสิ่งทอที่สามารถต่อยอดสู่การจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรได้นั่นเอง

ปี 3 มีให้เลือก 2 สาขาตามความสนใจ คือ สาขาเคมีสิ่งทอ และสาขาออกแบบสิ่งทอ จะได้เรียนเจาะลึกถึงเรื่องของเสื้อผ้า เครื่องนุ่มห่ม สีที่ใช้ การทดสอบ การวิจัย และจัดจำหน่ายมากขึ้น ตั้งแต่วิชาวิทยาศาสตร์ของสีและการเทียบสีด้วยคอมพิวเตอร์ วิชาการเตรียมและการย้อมสีสิ่งทอ

วิชาการทดสอบสิ่งทอและการวิเคราะห์คุณภาพ วิชาการวิจัยพัฒนาทางสิ่งทอและทักษะการวิจัย วิชาการผลิตเสื้อผ้าและเทคโนโลยีการผลิต วิชาเทคโนโลยีการตกแต่งสำเร็จสิ่งทอ วิชาเทคโนโลยีสะอาดในอุตสาหกรรมสิ่งทอ วิชาการจัดการ การผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งทอ

เสริมด้วยหลักสูตรที่ช่วยเพิ่มทักษะในการทำธุรกิจด้วยวิชาการประกอบการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิชาภาวะผู้นำและการทำงานเป็นทีมทางสิ่งทอ ซึ่งในปีนี้รุ่นพี่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นปีที่สนุกและกลายเป็นชอบการทำแล็บมาก เพราะสิ่งที่ได้ลงมือปฏิบัติในหลายวิชานั้น ช่วยให้ได้ทักษะ รวมถึงแนวคิดต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการทำงานจริง

ส่วนปี 4 เรียนรู้ ด้านการจัดการของเสีย นวัตกรรมการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ทั้งยังจะได้นำความรู้ที่ได้เรียนมาตลอด 4 ปีมาใช้สร้างสรรค์โครงงานพิเศษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งทอ ตั้งแต่สำรวจปัญหาต่างๆ ศึกษาเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้สร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา ได้วิเคราะห์ ออกแบบ วางแผน ลงมือปฏิบัติ วิเคราะห์งานวิจัย

ไปจนถึงเขียนเอกสารและนำเสนอผลงานจริง เมื่อมีผลงานแล้วก็ต้องมีเวทีให้ได้แสดงผลงาน โชว์ความสามารถกันได้เต็มที่ โดยหลักสูตรนี้ได้มีการจัดงานเดินแบบ Fashion Show เป็นประจำทุกปี ที่ได้ทำร่วมกับสถาบันชื่อดังหลาย ๆ แห่ง 

นักวิทย์สายแฟชั่น มธ.

ดร.ธนิกากล่าวว่า เทรนด์ปัจจุบัน วงการแฟชั่นให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเลือกใช้วัสดุที่ไม่สร้างขยะ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยจึงมีความพิเศษ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย มีศิลปะทางวัฒนธรรมที่สืบต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น และตรงกับเทรนด์แฟชั่นในปัจจุบันที่ Back to Basic คือ แฟชั่นจากวัสดุพื้นถิ่น ทำให้สามารถเรียนรู้ด้านแฟชั่น ไม่ได้ถูกตีกรอบให้เรียนในหัวเมืองใหญ่ ตามที่หลายคนคิด 

นอกจากมีทรัพยากรท้องถิ่นมากมายแล้ว อีกหนึ่งข้อดีคือ อาจารย์ผู้สอน มักเป็นคนพื้นที่ จะรู้จักทรัพยากร และเรื่องราวต่าง ๆ ของถิ่นตัวเองเป็นอย่างดี เลยทำให้ปัจจุบัน เราได้เห็นคนรุ่นใหม่นำเอาเรื่องราว วัสดุ ทรัพยากรตามท้องถิ่นของตนเองมาขึ้นเป็น Pattern ลายผ้า แบบเก๋ แต่มี Identity และ Story telling ซึ่งเป็นการสร้างเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุในท้องถิ่น 

“นอกจากนี้ นักศึกษาของเรายังได้รับการเติมเต็มทักษะการประกอบการเพื่อเพิ่มมูลค่าให้วัสดุสิ่งทอ ทักษะ ผู้นำและการทำงานเป็นทีม ทักษะการนำเสนอจากการลงสนามจริง ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการอัพเกรด นักวิทย์สิ่งทอ ในยุคเป็ดพรีเมียมให้ก้าวสู่การเป็นศิลปินวิทยาศาสตร์ ที่มีทักษะความรู้ที่รอบด้านและหลากหลาย 

ทั้งยังมีหลักคิดในการประกอบธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด SCI + BUSINESS ของคณะ ในการเป็น แหล่งปั้นนักวิทย์-พัฒนาธุรกิจ อย่างไรก็ดี ในปีการศึกษา 2567 คณะมีแผนปรับโครงสร้างหลักสูตรเพื่อให้สอดรับกับความสนใจและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการเปิดกว้างและสร้างสมดุลทางจิตใจในการเรียนรู้แบบไร้ขีดจำกัด”

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

  • นักวิเคราะห์ วิจัยปละพัฒนาวัสดุสิ่งทอ
  • นักบริหารจัดการด้านการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตเส้นใย เส้นด้าย ผ้าผืน เสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ 
  • นักเคมีในอุตสาหกรรมฟอกย้อม พิมพ์ และตกแต่งสำเร็จ
  • นักวิเคราะห์และทดสอบวัสดุสิ่งทอ
  • นักธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สิ่งทอ 
  • นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ด้านวัสดุสิ่งทอ 

นักวิทย์สายแฟชั่น มธ.

ข้อมูลจาก : MHESI PEDIA