อธิการฯเกิน 60 ปี ฟันเงินเดือน2.5แสน เล็งปลุกเครือข่ายอาจารย์ทั่วปท.ฟ้องสภาฯผิด ม.157

เผยอธิการบดีอายุเกิน 60 ปี ฟันเงินเดือน 2.5 แสนบาท ชี้ต้องใช้เงินค่าเทอมนักศึกษาจ่าย เล็งปลุกเครือข่ายอาจารย์ทั่วประเทศฟ้องสภาฯ ผิดมาตรา 157

กรณีนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) หารือร่วมกับนายกสภามหาวิทยาลัยและอุปนายกสภามหาวิทยาลัย จำนวน 58 แห่ง เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะส่งผลต่อสถาบันศึกษาของรัฐที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีและที่อยู่ระหว่างกระบวนการเสนอแต่งตั้งบุคคลที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิกาษาให้เพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กาญจนบุรี ในการประชุมครั้งที่ 11/2551 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 ที่แต่งตั้งนายปัญญา การพานิช ซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ เป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดีมรภ.กาญจนบุรี โดยวินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยเสียงที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า พ.ร.บ.ได้กำหนดให้อธิการบดีจะต้องพ้นจากตำแหน่งได้ในกรณีใดบ้าง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการมีอายุ 60 ปี ขณะเดียวกันคำสั่งศาลจะมีผลผูกพันเฉพาะกรณีเท่านั้น และนายสุภัทร เตรียมเสนอ 4 แนวทางให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณาแก้ไข ขณะที่ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) จี้ให้อธิการบดีที่อายุเกิน 60 ปี แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่งนั้น

เมื่อวันที่ 17 กันยายน นายฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ควรจัดทำแนวทางให้มีความชัดเจน จะมาอ้างว่าแต่ละแห่งมี พ.ร.บ.เป็นของตัวเอง คงไม่ใช่ เพราะ มรภ.ทุกแห่งต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันคือ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ดังนั้นจึงต้องมีจุดร่วมที่ชัดเจน ซึ่ง สกอ.ต้องกล้าหาญฟันธงไปเลยว่า อายุ 60 ปีแล้ว เป็นอธิการบดีได้หรือไม่ได้ อย่างไรก็ตามตนเห็นว่า เรื่องอายุเป็นปัญหาที่ปลายเหตุ แต่เป็นตัวสะท้อนระบบธรรมาภิบาลภายในมหาวิทยาลัย ในส่วนของ มร.สส.ไม่มีปัญหานี้ ส่วนหนึ่งเพราะวัฒนธรรมองค์กร อีกทั้งเรามีสภามหาวิทยาลัยที่มีธรรมาภิบาล และอดีตอธิการบดีที่ผ่านมา ก็มีสปิริตมากพอ สวนมหาวิทยาลัยอื่น ควรจะมีสปิริตด้วยหรือไม่นั้น ตนคงไม่แสดงความคิดเห็น เพราะอาจไปกระทบกับหลายส่วน

“เรื่องนี้ผมไม่อยากแสดงความคิดเห็นอะไรมาก เกรงจะไปกระทบหลายส่วน ซึ่งผมเองเห็นว่า อายุไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ สกอ.ต้องมีความชัดเจน การที่ สกอ.และสภามหาวิทยาลัย บอกว่าอายุไม่ใช่ตัววัดคุณภาพการบริหารงานนั้น ก็มีส่วนถูก เพราะมหาวิทยาลัยที่มีอธิการบดี อายุ 60 ปีแล้วมีปัญหา มีอยู่ไม่กี่แห่ง บางแห่งคนอายุ 60 ปีเข้ามาเป็นอธิการบดี เพราะเสียงของประชาคมที่ยอมรับการทำงาน ไม่ใช่สภามหาวิทยาลัย ขณะที่มหาวิทยาลัยที่มีปัญหาส่วนใหญ่ ก็มักจะมีปัญหาภายใน” นายฤๅเดชกล่าว

ด้านนายเชษฐา ทรัพย์เย็น ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มรภ.ธนบุรี ประธานกลุ่มส่งเสริมธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางกลุ่มส่งเสริมธรรมาภิบาลฯ ได้หารือและมีแนวทางการดำเนินการต่างๆ แต่จะฟังคำตอบของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการศธ.ก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งที่ประชุมมีจุดยืนทางเดียวเพื่อรักษาระบอบนิติรัฐไว้ คือ ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด หรืออย่างน้อย รัฐมนตรีว่าการศธ.ต้องใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 ข้อ 2 ในกรณีที่ปรากฏว่าการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา กรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา หรืออธิการบดี ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีอำนาจยับยั้งการแต่งตั้ง หรือการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้

นายเชษฐากล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางที่ทางกลุ่มรวมถึงที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) จะไม่รับและคัดค้านเต็มที่คือ การกดดันให้คสช.ใช้อำนาจ มาตรา 44 ลบล้างคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ซึ่งไม่มีประเทศไหนทำกัน และถ้ารัฐบาลนี้ทำ ก็ถือว่า เสื่อมอย่างมาก หรือออกแนวทางเพื่อยืนยันว่าคนอายุ 60 ปี ขึ้นไปสามารถเป็นอธิการบดีได้ จะแจ้งไปยังสมาชิกเครือข่ายทั้งในกลุ่มส่งเสริมธรรมาภิบาลฯ และกลุ่ม ทปสท. ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีปัญหา ให้ดำเนินการแจ้งความเอาผิดสภามหาวิทยาลัย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

“การที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งอธิการบดีที่เกษียณอายุราชการแล้วมาบริหารงาน เป็นการเพิ่มภาระผู้ปกครองและนักศึกษา เพราะไม่สามารถนำเงินงบประมาณมาจ่ายเงินเดือนได้ ต้องใช้เงินของมหาวิทยาลัยซึ่งได้จากการเก็บค่าเทอมของนักศึกษา อีกทั้งเงินเดือนของอธิการบดีที่อายุเกิน 60 ปี ยังสูงกว่า อธิการบดีที่เป็นข้าราชการกว่าเท่าตัว โดยทาง ทปสท. สำรวจอัตราเงินเดือนแต่ละแห่งพบว่า อธิการบดีที่อายุไม่ถึง 60 ปี ได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 5 หมื่นบาท เงินประจำตำแหน่ง 3 หมื่นบาท และค่ารถค่าเดินทางอีกประมาณ 3 หมื่นบาท รวมแล้วอธิการบดีที่อายุไม่ถึง 60 ปีได้เงินเดือนประมาณ 1 แสนกว่ากว่า ขณะที่อธิการบดีที่อายุเกิน 60 ปี แต่ละแห่งตั้งเงินเดือนไม่เท่ากัน แต่รวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 2.5 แสนบาท ซึ่งถือว่ามาก และที่สำคัญเป็นเงินที่ได้จากการเก็บค่าเทอมเด็ก“ นายเชษฐากล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์