เรียนครู “4 ปี” หรือ “5 ปี” หลักสูตรไหนได้ “คุณภาพ” มากกว่า??

คอลัมน์รายงานพิเศษ
ผู้เขียน สุวนันท์ คีรีวรรณ

กลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้งในแวดวงการศึกษา เมื่อกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายปรับ “หลักสูตรผลิตครู” จาก 5 ปี เป็น 4 ปี หลังจาก นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีความพยายามที่จะให้สถาบันผลิตครูทั้งหลาย หันกลับมาใช้หลักสูตรผลิตครู 4 ปี ตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภาเห็นชอบอนุมัติหลักการที่สภาคณบดีคณะครุศาสตรศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เสนอให้กลับไปผลิตครูในหลักสูตร 4 ปี

ภายหลัง ศธ.มีแนวนโยบายให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ผลิตครูหลักสูตร 4 ปี ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย มีทั้งกลุ่มเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย อีกทั้ง ยังถูกคัดค้านจากกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และมหาวิทยาลัยรัฐเดิมบางแห่งที่ไม่เห็นด้วย อยากให้คงหลักสูตรผลิตครู 5 ปีไว้เหมือนเดิม

ซึ่งในขณะนั้น รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้โยนเรื่องกลับไปให้มหาวิทยาลัยตัดสินใจกันเองว่า จะเปิดหลักสูตรครู 4 ปีหรือไม่ หากตกลงกันไม่ได้ ก็ใช้หลักสูตรทั้ง 4 ปี และหลักสูตร 5 ปี ควบคู่กันไป

แต่ท้ายสุด เรื่องก็เงียบหายไป โดยไม่มีข้อสรุปใดๆ ทั้งสิ้น

ประเด็นนี้กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ให้สัมภาษณ์หลังจากนั่งหัวโต๊ะประชุมมอบนโยบายการผลิตครูคุณภาพเป็นเลิศของกลุ่ม มรภ.ร่วมกับ นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) และ นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา รวมถึง อธิการบดี และคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์

Advertisment

ผลจากการประชุมคือ ศธ.มีนโยบายให้สถาบันการศึกษาที่ผลิตครูใช้หลักสูตรผลิตครู 4 ปี แต่ไม่บังคับหากสถาบันใดที่ยังคงใช้หลักสูตรผลิตครู 5 ปี เพราะอำนาจในการออกหลักสูตรอยู่ที่สภามหาวิทยาลัยเป็นผู้ตัดสิน โดยหลักสูตรนี้จะเริ่มทันทีในกลุ่มมหาวิทยาลัย มรภ.และมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมในปีการศึกษา 2556

เมื่อ ศธ.มีนโยบายให้กลับไปใช้หลักสูตรผลิตครู 4 ปีอีกครั้ง นักวิชาการด้านการศึกษาต่างแสดงความคิดเห็นอย่างเผ็ดร้อน โดยเสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

Advertisment

เริ่มจากฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายผลิตครู 4 ปี เนื่องจากกังวลว่าจะมีคุณภาพหรือไม่ และสามารถจัดทำหลักสูตรครู 4 ปี ทันกับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ประจำปีการศึกษา 2562 ที่จะเริ่มรอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน ในเดือนธันวาคมหรือไม่ โดยเห็นว่าการเปลี่ยนมาใช้หลักสูตร 4 ปี เป็นการเปลี่ยนโดยไม่มีเหตุผล หรือข้อมูลงานวิจัยมารองรับ หรือมีงานวิจัยที่ศึกษาเปรียบเทียบให้เห็นว่าผู้เรียนในหลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 5 ปี มีสมรรถนะเหมือน หรือแตกต่างกันอย่างไร ถ้ากลับใช้หลักสูตร 4 ปี จะมีแนวทางบริหารจัดการอย่างไร

ฝากฝั่งที่เห็นด้วย มองว่าปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปมาก รายวิชาบางตัวสามารถให้นักศึกษาเรียนได้ด้วยตนเอง รูปแบบการลงพื้นที่ฝึกสอนก็เปลี่ยนไปแล้ว รวมถึง มีผลวิจัยออกมาแล้วว่าการเรียนครูไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร 4 ปี หรือหลักสูตร 5 ปีนั้น ไม่มีความแตกต่าง อีกทั้ง การเรียนหลักสูตรครู 5 ปี ใช้เวลานานเกินไป อย่างไรก็ตาม การออกนโยบายที่เปลี่ยนแปลง และส่งผลกระทบต่อภาพรวม ควรจะต้องพูดคุย เอางานวิจัยมาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ที่สำคัญอย่ายึดติดกับจำนวนปี ไม่เช่นนั้นจะเป็นการถกเถียงไม่สิ้นสุด

เมื่อเป็นประเด็นร้อนแรงที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นกันมากมาย จน นพ.อุดมต้องออกมาเบรก โดยยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการบังคับ มหาวิทยาลัยจะเลือกเปิดสอนหลักสูตร 4 ปี หรือหลักสูตร 5 ปีก็ได้ ไม่ว่าอะไร ทุกอย่างขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย เรื่องนี้ทาง ศธ.เสนอเป็นนโยบาย

“ผลวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ยืนยันว่าจำนวนปีในการผลิตครูไม่ใช่สาระสำคัญ สิ่งสำคัญอยู่ที่กระบวนการผลิต ขณะที่งานศึกษาวิจัยที่กำลังดำเนินการโดยสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เบื้องต้นพบว่า ด้านเศรษฐกิจ ต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง นักศึกษา มหาวิทยาลัย และประเทศชาติ ที่ลงทุนการเรียนหลักสูตรครู 5 ปีสูงมาก ดังนั้น ถ้าลดเหลือ 4 ปี โดยบัณฑิตมีคุณภาพสูง จะช่วยประหยัดงบฝ่ายต่างๆ ได้มาก” นพ.อุดม กล่าว

อย่างไรก็ตาม นพ.อุดมระบุชัดเจนว่า สถาบันใดที่เปิดหลักสูตร 4 ปี จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณ

ด้านนายสุภัทร กล่าวว่า ในวันที่ 2 พฤศจิกายน จะเชิญตัวแทนคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่เปิดสอนหลักสูตรผลิตครู 5 ปี มาประชุมหารือร่วมกับ นพ.อุดม เพื่อรับฟัง และทำความเข้าใจนโยบายการจัดทำหลักสูตรผลิตครู 4 ปี และในขณะที่หลักสูตรผลิตครู 4 ปี ยังไม่ทำรายละเอียดหลักสูตร จึงต้องรีบหามหาวิทยาลัยที่รับเป็นแม่งานจัดทำหลักสูตรผลิตครู 4 ปี คาดว่าภายในเดือนตุลาคมนี้ จะตั้งคณะกรรมการจัดทำหลักสูตรผลิตครู 4 ปี เพื่อยกร่างกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (มคอ.) แต่หากไม่มี สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะเป็นผู้ดำเนินการเอง

“เนื่องจากการดำเนินการจัดทำหลักสูตรต้องใช้เวลา มองว่าหลักสูตรผลิตครู 4 ปี ไม่สามารถดำเนินการได้ทันรับสมัครทีแคส รอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน วันที่ 1-15 ธันวาคม โดยคาดว่าเร็วที่สุดคือกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่มหาวิทยาลัยจะปรับปรุงหลักสูตร และรองรับทีแคสรอบที่ 2 เป็นต้นไป” นายสุภัทร กล่าว

ทั้งนี้ หากปรับเปลี่ยนจำนวนปีของหลักสูตรผลิตครูจริงๆ จะมีผลกระทบต่อการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูหรือไม่นั้น นายเอกชัย ประธาน กมว.ระบุว่า ในการประชุม กมว.เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือกรณีข้อถกเถียงการเรียนหลักสูตรผลิตครู 4 ปี หรือหลักสูตรผลิตครู 5 ปี มีคุณภาพมากกว่ากัน โดยพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 เป็นหลัก พบว่าในกฎหมายไม่ได้ระบุว่า ผู้ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จะต้องเรียนครูกี่ปี

โดยใน พ.ร.บ.ระบุเพียงว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพควบคุม ต้องมีวุฒิปริญญาทางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือมีคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด

“ดังนั้น สถาบันการศึกษาที่จะผลิตครู ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร 4 ปี หรือหลักสูตร 5 ปี แล้วถูกรับรองปริญญาทางการศึกษา โดย สกอ.ผ่านการปฏิบัติการสอน 1 ปี จะมีสิทธิได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จะเปลี่ยนอย่างไรก็ตาม คนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ คงหนีไม่พ้นนักเรียนชั้น ม.6 ที่วางแผนจะเข้าเรียน และพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่เฝ้ารอความแน่ชัดจาก ศธ.ว่าตกลงจะใช้หลักสูตร 4 ปี หรือหลักสูตร 5 ปีกันแน่” นายเอกชัย กล่าว

ได้แต่สงสารนักเรียนชั้น ม.6 ที่จะจบในปีการศึกษา 2561 ที่มีเป้าหมาย หรือตั้งใจอยากเรียนครู เพราะยังไม่รู้ว่าบทสรุปจะเป็นแบบไหน

คงต้องจับตาการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน ระหว่าง นพ.อุดม และคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศ ว่าจะมี “ข้อยุติ” หรือ “ทางออก” ให้กับเรื่องนี้อย่างไร??

 

ที่มา : มติชนออนไลน์