ผอ.สถาบันอาชีวะพร้อมยื่นทรัพย์สิน ห่วงเอกชนเมินนั่ง กก.สภาชุดใหม่

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน นายพรณรงค์ วรศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยถึงกรณีประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำหนดให้นายกสภาและกรรมการสภาต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ซึ่งนายจิตรนรา นวรัตน์ อธิบดีอัยการสำนักงานคณะปราบปรามการทุจริตภาค 2 ระบุว่ารวมผู้บริหารที่มีตำแหน่งเทียบเท่า เช่น ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาซึ่งเทียบเท่าอธิการบดี รองผู้อำนวยการ นายกสภา และกรรมการสภาสถาบันการอาชีวศึกษาทั้ง 23 แห่ง และนายกสภา และกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชน(วชช.)ด้วย ทั้งนี้สถาบันการอาชีวศึกษา 23 แห่งจะนัดหารือกับป.ป.ช. เพื่อหาข้อสรุปในวันที่ 27 พฤศจิกายนนั้น ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้หารือกับกรรมการสภาอย่างละเอียด ปัจจุบันกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากภาคเอกชน เสียชีวิตไป 1 คน เหลือกรรมการสภาที่เป็นบุคคลภายนอกอีก 2 ราย คือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และอาจารย์มหาวิทยาลัย ส่วนกรรมการสภารายอื่นเป็นผู้แทนข้าราชการจากสถาบันการอาชีวศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และผู้แทนจากสอศ.ที่แต่งตั้ง

“จะสรรหากรรมการสภาที่มาจากภาคเอกชนใหม่หรือไม่ คิดว่าไม่เพราะขณะนี้กรรมการสภาเหลือเวลาทำงาน 6 เดือน ตามระเบียบกำหนดไว้ว่าถ้าเหลือ 6 เดือนให้กรรมการสภาทำงานเท่าที่เหลืออยู่จนกว่าจะมีชุดใหม่ อย่างไรก็ตามถ้าประกาศ ป.ป.ช. บังคับใช้จริง สถาบันจะสรรหากรรมการสภาที่มาจากภาคเอกชนยากขึ้นหรือไม่นั้น ผมไม่อาจไปพูดแทนได้ว่าจะพร้อมเข้ามาทำงานร่วมหรือไม่ เพราะการยื่นบัญชีทรัพย์สินสำหรับข้าราชการเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับภาคเอกชน อาจกลัวความยุ่งยาก รายละเอียดมาก หากพลาดโดยไม่เจตนาอาจได้รับผิดทางอาญา อีกทั้งค่าตอบแทนในการเข้าประชุมแต่ละครั้งแค่ 1,000 กว่าบาท ขณะที่สถาบันการอาชีวศึกษาได้รับประโยชน์อย่างมากจากความคิดเห็นของภาคเอกชน” นายพรณรงค์ กล่าว

นายพรณรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับตนไม่มีปัญหา เพราะมีหน้าที่ต้องชี้แจงตามกฎหมายอยู่แล้ว อีกทั้งนายกสภา คือนายรอยล จิตรดอน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากที่พูดคุยไม่มีปัญหา หากกฎหมายกำหนดพร้อมจะชี้แจง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องตีความให้ชัดเจนอีกครั้ง เพราะสถาบันการอาชีวศึกษา เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของ สอศ. ไม่ได้ตั้งงบประมาณได้เอง บทบาทในการบริหารงาน จัดสรรบุคลากร การตั้งงบประมาณเป็นหน้าที่ของ สอศ. ทั้งหมด สถาบันมีหน้าที่บริหารงานโดยเน้นวิชาการและจัดการเรียนการสอนมากกว่า ขณะนี้รอความชัดเจนจาก ป.ป.ช. ว่าจะมีแนวทางอย่างไร หากต้องยื่นจริง ก็พร้อมจะชี้แจง ไม่มีเจตนาปกปิดใด ๆ

 

ที่มา : มติชนออนไลน์