คอลัมน์ “มติชนมติครู”
ผู้เขียน ธนิตย์ สุวรรณเจริญ
เทศกาลติวสอบโอเน็ตเริ่มต้นอีกครั้ง ช่วงต้นปีหรือจะสิ้นปีการศึกษา บ้านเรามีการสอบวัดความรู้พื้นฐานนักเรียนระดับชั้นประถมและมัธยมทุกปี แต่ก่อนสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ใช้ผลนี้วัดมาตรฐานการจัดการศึกษาของโรงเรียน ซึ่งชี้เป็นชี้ตาย เพราะถ้าคะแนนไม่ถึง 8 จาก 20 แต้ม โรงเรียนจะไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานทันที แต่ล่าสุดการประเมินภายนอกรอบสี่ สมศ. ซึ่งเปลี่ยนไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยกเลิกเกณฑ์วัดนี้แล้ว
แต่การสอบโอเน็ตยังสำคัญ เพราะเป็นคะแนนส่วนหนึ่งที่นักเรียนนำไปใช้สมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย นอกจากนั้นยังฟ้องถึงคุณภาพโรงเรียนในสายตาของผู้บริหาร ศธ.อยู่ดี บางเขตพื้นที่การศึกษานำคะแนนแต่ละโรงมาเรียงลำดับเปรียบเทียบ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาผลการสอบของโรงเรียนในเขตพื้นที่ตนเอง วิธียกย่องบางโรงและประณามบางโรง ทั้งๆ ที่รู้ซึ้งถึงความแตกต่างหลากหลายในเรื่องปัจจัยต่างๆ ที่แต่ละโรงมี เป็นความมักง่ายของนักการศึกษาบางคนอย่างไม่น่าเชื่อ
ขนาดคนในวงการศึกษา โดยเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบระดับเขตพื้นที่ยังจมปลักอยู่กับความล้าหลัง ไม่เท่าเทียม แล้วคนภายนอกหรือในสังคมจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร สมศ.ทนฟังกระแสวิพากษ์ความไม่เห็นด้วยที่ใช้ไม้บรรทัดอันเดียวกันวัดทุกโรงเรียน เพื่อสร้างให้โรงเรียนทั้งประเทศมีมาตรฐานเดียวกันมานาน ในที่สุดต้องยกเลิก พ่ายแพ้ข้อเท็จจริงที่ทุกคนรับรู้ ว่าเป็นไปไม่ได้ในสังคมทุนนิยม มือใครยาวสาวได้สาวเอาเช่นนี้ หน่วยงานอื่นเข้าใจและปรับเปลี่ยนวิธีการ แต่หน่วยงานต้นสังกัดไม่เข้าใจ
การจัดการศึกษาบ้านเราที่ผู้เกี่ยวข้องดูไร้เหตุผลที่สุดอย่างหนึ่งคือเรื่องนี้ อยากได้เยาวชนคนไทยคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ต้องการนักคิด หลักสูตรปัจจุบันและหลายหลักสูตรที่ผ่านมาก็กำหนดลักษณะนั้น สถานศึกษาต้องจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หรือต้องเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ ลงมือทำ ความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์ (Active Learning)
แต่เขตพื้นที่การศึกษากลับปล่อยให้โรงเรียนจัดการสอนแบบบรรยายอุตลุด โดยเฉพาะช่วงเข้าด้ายเข้าเข็มก่อนสอบโอเน็ต บางคนเรียนติว เรียนพิเศษ หรือสอนเสริมเพิ่มเติม ที่จริงก็คือสอนแบบอัดเนื้อหาให้เด็กๆ นำไปใช้สอบ เป็นการสอนโดยเน้นครูเป็นสำคัญ ฟังหรือรับความรู้จากครูลูกเดียว (Passive Learning) ตรงข้ามกับที่หลักสูตร หรือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กำหนด ที่สำคัญเป็นการกระทำของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการศึกษาของชาติบ้านเมืองเสียเอง
แถมวิธีสอนดังกล่าวไม่ทำให้นักเรียนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ไม่สร้างนักคิดแน่นอน นักเรียนอาจเก่งขึ้นบ้างในเรื่องการทำข้อสอบ อาจได้คะแนนดีขึ้นบ้าง แต่สุดท้ายก็ลืมความรู้เหล่านั้นอยู่ดี
มิใช่แค่ปล่อยให้เกิด บางแห่งจังหวัดหรือเขตพื้นที่การศึกษาเป็นตัวตั้งตัวตีจัดการสอนแบบติวเองเลย ด้วยการจ้างติวเตอร์ที่มีชื่อเสียงมาสอน แล้วถ่ายทอดสัญญาณอินเทอร์เน็ตไปยังโรงเรียนต่างๆ เวลาเรียนปกติในห้องถูกการติวเบียดแย่งไปอย่างไร้คุณค่าหรือไม่สนใจไยดีแม้แต่น้อย
หน่วยงานหลักที่ดูแลจัดการศึกษาบ้านเรา ทัศนคติ การดำเนินการยังย้ำวนอยู่กับที่ ทำงานเฉพาะหน้าเฉพาะกิจ เน้นแค่การสอบหรือผลการสอบไม่ต่างอะไรจากผู้ปกครอง ซึ่งไม่ได้สนใจภาพรวมการพัฒนาเยาวชนคนไทยอยู่แล้ว อย่างนี้การศึกษาเราจะไปทางไหนต่อ
จะสอบโอเน็ตก็ติว จะสอบ PISA ซึ่งเน้นการคิดเป็นพิเศษ ก็ให้ครูหาตัวอย่างข้อสอบมาศึกษา มาให้นักเรียนฝึกทำ เพื่อเพิ่มคะแนน เพิ่มลำดับ มิให้รั้งท้ายเหมือนที่ผ่านมา แทนที่จะเน้นการเรียนการสอนในห้องตามหลักสูตร หรือตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เพื่อสร้างนักคิด ผลิตนวัตกรรมได้ เป็น Thailand 4.0 ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี แต่กลับเน้นทำทุกวิถีทาง แค่ให้ทำข้อสอบได้เท่านั้น
ความหนาว ความสดชื่น อีกไม่กี่วันคงจางหาย กลับมาร้อนอบอ้าวอีกเช่นเคย ฝุ่นละอองมากมายยังคงปกคลุมสร้างปัญหาให้คนกรุงเทพมหานคร คอร์รัปชั่นก็อีกเรื่องหนึ่งที่เลวร้ายยืนยงคงกระพันในบ้านเรา การเลือกตั้ง นักการเมืองและการทำงานเพื่อประชาชนอันเป็นที่รัก กำลังจะกลับมาอีกครั้งแล้ว
การศึกษาน่าจะประมาณกัน ซ้ำซาก วนเวียน น่าเศร้า..
ยังไม่เห็นแสงสว่าง แม้พยายามเล็งจนสุดปลายอุโมงค์แล้ว