มธบ.ผนึกแบงก์ออมสิน ส่ง น.ศ.ร่วมพัฒนาชุมชนคลองศาลากุล เกาะเกร็ด

ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน ร่วมกับ มธบ.จัดทำโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษานำความรู้ที่ได้เรียนจากภาคทฤษฎี มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพชุมชน ทั้งในด้านของมูลค่าผลิตภัณฑ์ และบริการ ที่จะนำไปสู่การพัฒนารายได้ และความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างยั่งยืน โดย มธบ.ได้เลือกชุมชนคลองศาลากุล ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นชุมชนกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากเป็นชุมชนที่กำลังเติบโต และต้องการองค์ความรู้ในการพัฒนาต่อยอดให้ยั่งยืน โดยพื้นที่ของชุมชนนี้ตั้งอยู่คนละฟากกับกับชุมชนปากเกร็ดเดิม ซึ่งธุรกิจเจริญเติบโต ผลประกอบการดี และเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว ดังนั้น มธบ.จึงสนใจพัฒนาชุมชนปากเกร็ดในอีกฟากหนึ่ง เพื่อให้มีศักยภาพเพียงพอ หรือเทียบเท่ากับชุมชนอีกฝั่งของปากเกร็ด

ดร.ศิริเดช กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้เสนอการเพิ่มศักยภาพทั้งหมด 7 โครงการย่อย ประกอบด้วย ชุมชนกระเป๋าผ้า, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรและเบเกอรี่ 2 ผลิตภัณฑ์, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนางรำ 2 ผลิตภัณฑ์, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนดอกไม้ผ้าใยบัว และกลุ่มเกษตรกรทำสวนเกาะเกร็ด เบื้องต้น มธบ.ได้นำนักศึกษาลงพื้นที่เพื่อสำรวจ และรับทราบปัญหา ความต้องการของชาวบ้านในชุมชน เพื่อนำข้อมูลกลับมาวางแผนในการเพิ่มศักยภาพของชุมชนได้ตรงตามความต้องการ พบว่าชุมชนส่วนหนึ่งต้องการให้พัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าให้ทันสมัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย ยกระดับสินค้าชุมชนให้น่าสนใจมากขึ้น รวมถึง สินค้าประเภทบริการ และการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงจากอีกฟากของปากเกร็ดกก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะหากช่วยให้นักท่องเดินทางมาท่องเที่ยวยังอีกฟากฝั่งได้อย่างง่ายดาย ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับชุมชนแห่งนี้ได้อีกด้วย

“การลงพื้นที่จะทำให้นักศึกษาได้เห็นสภาพที่แท้จริงของธุรกิจ เป็นการเปิดโอกาสให้ได้ฝึกการทำงานจริง โดยมีคณาจารย์เป็นที่ปรึกษาตลอดระยะเวลาดำเนินการ 9 เดือน และมีนักศึกษาร่วมโครงการ ประกอบด้วย วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี หลักสูตรการจัดการและการเป็นผู้ประกอบการ หลักสูตรการตลาดสาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน และคณะศิลปกรรม รวม 30 กว่าคน ซึ่งจะร่วมกันคิดแผนธุรกิจการพัฒนาศักยภาพชุมชนในโครงการนี้ ก่อนนำไปสู่การปฏิบัติจริง โดยตั้งเป้าสร้างรายได้ และความยั่งยืนสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน” ดร.ศิริเดช กล่าว

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์