“บอร์ด กพฐ.” เล็งชง “สพฐ.” พิจารณาหลักเกณฑ์รับ น.ร.ปี’63 ให้ร.ร.แข่งสูงทั่วประเทศสอบเข้า 100%

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กพฐ. ว่าที่ประชุมได้หารือถึงหลักเกณฑ์การรับนักเรียน ปีการศึกษา 2563 เห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ควรหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุป พร้อมกับกำหนดเป็นแผนแม่บท เพื่อเกณฑ์การรับนักเรียนจะไม่ต้องเปลี่ยนแปลงทุกปี เช่น การรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการกำหนดไว้ที่ 60% เกณฑ์จำนวนนักเรียน 40 คนต่อห้องเรียน เกณฑ์เหล่านี้ไม่ควรจะเปลี่ยนแปลง

นายเอกชัยกล่าวต่อว่า ในประเด็นการรับเด็กในเขตพื้นที่บริการ ที่ประชุมได้หารือว่าไม่ควรไปบังคับโรงเรียนต้องรับเด็กในพื้นที่ 100% ทั้งหมด โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง อาจไม่จำเป็นต้องรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ โดยให้โรงเรียนรับนักเรียนทั่วประเทศเข้ามาเรียนด้วยการสอบ 100% เพราะโรงเรียนกลุ่มนี้ถือเป็นโรงเรียนที่ทำหน้าที่พัฒนานักเรียนเก่งของประเทศ ส่วนโรงเรียนอื่นที่ไม่อยู่ในกลุ่มโรงเรียนแข่งขันสูง สามารถรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการได้เลย แต่หากโรงเรียนเหล่านี้สามารถพัฒนาโรงเรียนให้อยู่ระดับแข่งขันสูงได้ ก็สามารถเปลี่ยนมารับนักเรียนเข้าเรียนโดยการสอบ 100% ได้เช่นกัน

นายเอกชัยกล่าวอีกว่า ดังนั้นโรงเรียนในอนาคตจะมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือโรงเรียน ที่รับนักเรียนจากทั่วประเทศโดยไม่สนใจเขตพื้นที่บริการ เข้ามาเรียนโดยการสอบ 100% และไม่ต้องรับนักเรียนในเขตบริการ เช่นเดียวกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ถือเป็นโรงเรียนแข่งขันสูง จะรับเด็กเก่งๆ มาเรียนเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพ และกลุ่มสอง คือกลุ่มที่รับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการเหมือนในปัจจุบัน โดยจะต้องมีการกำหนดสัดส่วนให้ชัดเจน ทั้งจำนวนการรับนักเรียน จำนวนนักเรียนต่อห้อง เป็นต้น หากนักเรียนที่เก่งเข้าไปในโรงเรียนทั่วไป โอกาสที่โรงเรียนสร้างนักเรียนที่มีศักยภาพสูงจะน้อยลง

“ในอนาคตควรแยกประเภทโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนแข่งขันสูง มีโอกาสในการพัฒนานักเรียนที่มีศักยภาพให้เป็นเด็กเก่งมีศักยภาพ ส่วนโรงเรียนที่รับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ เพื่อให้นักเรียนไม่มีปัญหาของการเดินทางไปเรียน ซึ่งเป็นคนละเป้าหมาย ดังนั้น ต่อไปโรงเรียนดัง เช่น โรงเรียนสวนกุหลายวิทยาลัย โรงเรียนวัดสุทธิวราราม โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนสตรีวิทยา และโรงเรียนชื่อดังและแข่งขันสูงอื่นๆ รวมทั้งโรงเรียนประจำจังหวัด ควรจะเป็นโรงเรียนที่รับนักเรียนเข้าเรียนด้วยการสอบ 100% ไม่ต้องไปยุ่งกับเขตพื้นที่บริการ เพราะเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพนักเรียนเก่ง เหมือนกับเราเพชรมาเจียระไน” นายเอกชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า วิธีการคัดเลือกโรงเรียนที่จะสามารถรับเด็กด้วยการสอบ 100% จะเป็นอย่างไร นายเอกชัย กล่าวว่า ในเบื้องต้นน่าจะดูได้จากโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ซึ่ง สพฐ.มีตัวเลขอัตราการแข่งขัน และคุณภาพของโรงเรียนอยู่แล้วที่จะเป็นตัวกำหนดโรงเรียน ถือเป็นเรื่องของ สพฐ.ที่จะเป็นผู้กำหนดว่าในอนาคตจะให้โรงเรียนใดสามารถรับนักเรียนได้ทั่วประเทศมาสอบแข่งขันเข้าเรียนได้

“ขั้นต่อไป กพฐ.จะเสนอแนวคิดนี้ให้ สพฐ.พิจารณา ส่วนจะสามารถทำได้ในปีหน้าหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ สพฐ. อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์บางอย่างมีข้อกำหนดว่าจะต้องประกาศล่วงหน้า 1 ปี แต่มีเรื่องหนึ่งที่ กพฐ.อยากเห็นคือ ไม่อยากเห็นโรงเรียน สพฐ.รับเด็กเข้ามาจำนวนมาก เพื่อทำให้โรงเรียนกลายเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่และได้รับเงินอุดหนุนรายหัวจำนวนมาก ควรมีการกำหนดการจ่ายเงินอุดหนุนรายหัว เช่น โรงเรียนสามารถรับนักเรียนได้จำนวน 1,200 คน หากเกินกว่านี้จะได้รับเงินอุดหนุนน้อยลง ยิ่งรับนักเรียนมากเงินรายหัวจะได้น้อยลง วิธีนี้จะทำให้โรงเรียนไม่ยอมรับนักเรียนเพิ่ม ซึ่งจะทำให้นักเรียนกระจายไปยังโรงเรียนอื่นๆ ผู้ปกครองก็ต้องมีการทำความเข้าใจ หากผู้ปกครองเข้าใจว่าโรงเรียนนี้มีการแข่งขันสูง เป็นโรงเรียนที่จะพัฒนาศักยภาพนักเรียนให้เก่งมากขึ้น หากผู้ปกครองต้องให้ลูกตนเองเข้าไปเรียนในโรงเรียนที่มีสิ่งแวดล้อมเช่นนั้น ก็ให้ลูกไปสอบ แต่ถ้าสอบไม่ได้ก็ยังมีโรงเรียนอื่นรองรับ” นายเอกชัยกล่าว

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์