สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ “วลัยลักษณ์” ปักธงดาวรุ่งงานวิจัย

ถ้ามองหามหาวิทยาลัยเบอร์ 1 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนต้องยกให้ “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีนักศึกษาจำนวน 9,000 คน และในปีนี้กำลังจะมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายของการเป็นผู้นำการวิจัยและนวัตกรรม “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” อธิการบดี ถึงความท้าทายในการบริหารท่ามกลางการแข่งขันในธุรกิจการศึกษาที่รุนแรงในขณะนี้สถานการณ์ของธุรกิจการศึกษาได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยรัฐหรือเอกชนก็ตาม

“ศ.ดร.สมบัติ” ยอมรับว่า จำนวนนักศึกษาที่อยู่ในระบบน้อยมาก ในขณะที่ในประเทศมีมหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่า 170 แห่ง ท่ามกลางสถานการณ์เหล่านี้จึงทำให้ ม.วลัยลักษณ์ได้กำหนดตัวเองว่าเป็น “มหาวิทยาลัยวิจัยสมบูรณ์แบบ” โดยเน้นไปที่การวิจัยเป็นหลัก และยังดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้ ม.วลัยลักษณ์เป็น “มหาวิทยาลัยวิจัยสมบูรณ์แบบ” แห่งหนึ่งของประเทศ

ล่าสุดจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกในประเด็นการวิจัยนวัตกรรมนั้น ม.วลัยลักษณ์อยู่อันดับที่ 6 ของประเทศ อันดับที่ 148ของเอเชีย และอันดับที่ 429 ของโลก นับได้ว่าเป็นความสำเร็จอย่างสูงจากการดำเนินการที่มีเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจนและพร้อมจะมุ่งเน้นอย่างต่อเนื่องเพราะในอนาคตอาจก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าผลผลิตการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มขึ้น

“ศ.ดร.สมบัติ” บอกถึงจุดแข็งของ ม.วลัยลักษณ์ในปัจจุบันคือ “สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ” สามารถแข่งขันในตลาดการศึกษาได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสาขาดังกล่าวค่อนข้างจำกัดจำนวนที่ 48 คนต่อชั้นปีเท่านั้น คัดเฉพาะนักเรียนหัวกะทิเข้ามาเรียน รวมถึงสาขาอื่น ๆ อย่างสาขาเภสัชศาสตร์ จำนวน 110 คน

ในขณะที่สาขาอื่น ๆ ยังได้รับความสนใจมาก เช่น สาขาสัตวแพทย์ และสาขาพยาบาล ที่ค่อนข้างให้ความสำคัญในการคัดเลือก ส่วนสาขาอื่น ๆ ไม่ได้จำกัดจำนวน แต่ยังคงมุ่งเน้นไปที่การสร้างบัณฑิตคุณภาพสูง ที่สร้างความสำเร็จให้ประเทศในอนาคตได้

“เราจะเน้นไปที่บัณฑิตศึกษาให้สร้างผลงานด้านการวิจัยมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ โดยช่วงที่ผ่านมามีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ปูม้า ที่เพาะขยายพันธุ์และปล่อยลงสู่ทะเล สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับนักวิชาการชุมชนที่วิจัยเรื่องกุ้งขาวที่เป็นโรคตายด่วนได้คิดวิจัยวัคซีนต้านทานโรคซึ่งได้ผลดีมาก”

นอกเหนือจากนี้ “ศ.ดร.สมบัติ” กล่าวอีกว่า ยังมีการวิจัยที่มุ่งเน้นให้ชุมชนในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์จากวิจัยด้วยคือ “ยางพารา” ที่ ม.วลัยลักษณ์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะปัญหาด้านราคาที่ต้องเจอทุกปี ล่าสุดได้วิจัยและพัฒนายางพารามากำจัดสีและกลิ่น หากว่าพัฒนาได้ในระดับแล็บสเกลแล้วสามารถเป็นคอมเมอร์เชียลสเกลต่อไปได้ ถ้าทั้งประเทศใช้สีจากยางพาราทั้งหมดจะช่วยเกษตรกรได้มากขึ้น

สิ่งเหล่านี้เป็นผลงานการวิจัย และยังมีผลงานที่โดดเด่นอย่างยางพาราที่เมื่อเปลี่ยนสถานะเป็นของแข็งแล้ว นำไปผลิตเป็น “ปืนฝึกหัด” ที่ตลาดมีความต้องการ โดยเฉพาะทหารและตำรวจที่ต้องใช้ในการฝึกเพราะขนาดและน้ำหนักเท่ากับของจริงปกติ หากการวิจัยแล้วเสร็จภาคเอกชนที่สนใจสามารถนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ ซึ่งหากขยายฐานไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ ก็จะส่งผลต่อราคายางพาราด้วยสำหรับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในปี 2562

“ศ.ดร.สมบัติ” ไล่เรียง 5 แผนงานที่ประกอบด้วย 1) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในจีน เพื่อพัฒนาหลักสูตรและจัดหานักศึกษาให้กับทั้ง 2 ฝ่าย ต้องยอมรับว่า มหาวิทยาลัยในประเทศจีนไม่สามารถรองรับได้ และแต่ละที่ก็มีมาตรฐานสูง เด็กระดับกลาง ๆ สอบเข้าไม่ได้แน่นอน ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะมีนักศึกษาจากจีนเข้ามาเรียนที่ ม.วลัยลักษณ์ไม่ต่ำกว่า 100 คน และส่วนนี้จะทำให้มหาวิทยาลัยมีรายได้เข้ามามากขึ้น โดยหลักสูตรที่นักเรียนจากจีนให้ความสนใจคือบริหารธุรกิจ และการท่องเที่ยว

2) เกณฑ์มาตรฐานสำหรับมหาวิทยาลัยรัฐจะเข้าไปให้ความร่วมมือกับภาคเอกชนคือสหกิจศึกษา หรือการให้นักศึกษาเข้าไปฝึกงานในสถานประกอบการตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และ ม.วลัยลักษณ์นำมาปรับใช้เป็นไปในรูปของสหกิจศึกษาจาก 4 เดือน ให้เพิ่มเป็น 8 เดือน พร้อมทั้งปรับหลักสูตรการสอนให้จบภายใน 3 ปี 1 เทอม หลังจากนั้นจะนำนักศึกษาเข้าไปยังสถานประกอบการ เพื่อไปฝึกเข้มข้นในอาชีพที่เขาต้องการทำ ซึ่งรูปแบบนี้มีต้นแบบที่ดีมากของ “สาขาท่องเที่ยว” นักศึกษาของเราได้รับความสนใจจากที่พักและโรงแรมต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อฝึกและใช้นักศึกษาร่วมงานในอนาคต

3) เตรียมความพร้อมพัฒนาห้องเรียนให้เป็น smart class room ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียน โดยนักเรียนที่จะเข้ามาเรียนในปีการศึกษา 2563 นี้ จะได้รับแจกไอแพดทุกคน เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการค้นหาข้อมูลประกอบการเรียนการสอน

4) ความร่วมมือภายใต้ข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) กับพันธมิตรในต่างประเทศที่ไม่มีความคืบหน้าให้ “ยกเลิก” และเน้นไปที่ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นได้จริงใน 3 เรื่องหลักคือ การวิจัย การแลกเปลี่ยนคณาจารย์ และแลกเปลี่ยนนักศึกษาและ 5) เกณฑ์มาตรฐานสำหรับความร่วมมือของมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนคือ สหกิจศึกษา หรือการให้นักศึกษาเข้าไปฝึกงานในสถานประกอบการ รวม 4 เดือน ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่นำมาปรับใช้เป็นไปในรูปของสหกิจศึกษาจาก 4 เดือนให้เพิ่มเป็น 8 เดือน และปรับหลักสูตรการสอนให้จบภายใน 3 ปี 1 เทอม

หลังจากนั้นเรานำนักศึกษาเข้าไปยังสถานประกอบการเลย เพื่อไปฝึกเข้มข้นในอาชีพที่เขาต้องการทำ ในรูปแบบดังกล่าวมีต้นแบบที่ดีมากของ “สาขาท่องเที่ยว” นักศึกษาได้รับความสนใจจากที่พักและโรงแรมต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อฝึกและใช้เด็กของเราร่วมงานในอนาคต

ในช่วงท้าย “ศ.ดร.สมบัติ” กล่าวถึงการสนับสนุนนโยบายโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเชิญผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาหารือว่าจะพัฒนาคนเพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ รวมถึงความร่วมมือในการรับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เข้าไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพ เพื่อให้ได้บัณฑิตคุณภาพไปพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศต่อไป