ดอลลาร์อ่อนค่า หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรต่ำกว่าคาด

ดอลลาร์

ดอลลาร์อ่อนค่า หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรต่ำกว่าคาด

วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/5) ที่ระดับ 36.72/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/5) ที่ระดับ 36.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลัก หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

โดยในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (3/5) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 175,000 ตำแหน่งในเดือนเมษายน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 238,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.9% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.8% และกระทรวงแรงงานสหรัฐได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนมีนาคม โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 315,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 303,000 ตำแหน่ง

ขณะเดียวกันตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 3.9% ในเดือนเมษายนเมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 4.0% เมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมง โดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้น 0.2% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.3% ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ

ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 62.7% ทางด้านสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 49.4 ในเดือนเมษายน จากระดับ 51.4 ในเดือนมีนาคม และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.0 โดยดัชนีได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน

Advertisment

นอกจากนี้ทาง เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 51.3 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน จากระดับ 51.7 ในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ ดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการจ้างงานที่ปรับตัวลงครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี และคำสั่งซื้อใหม่ชะลอตัวลง ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน

สำหรับปัจจัยในประเทศ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แสดงวิสัยทัศน์ในงาน 10 เดือนเพื่อไทยไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10 โดยระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องนั้นเป็นเพียงการสะท้อนความเห็นของประชาชนจากการลงพื้นที่

และเชื่อว่าทุกคนปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องภาระดอกเบี้ยสูงเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นรายจ่ายตัวหนึ่งที่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ขณะเดียวกันก็เข้าใจถึงความเป็นอิสระของ ธปท. ซึ่งทางรัฐบาลพยายามทำงานร่วมกัน และมั่นใจว่าให้เกียรติ ธปท. แต่เมื่อมีข้อเรียกร้องเข้ามาก็ได้เรียกร้องไป ตลอดจนได้พูดคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดอกเบี้ยที่คิดว่าควรต้องลดลงมา แต่ผู้ว่าการ ธปท.ก็มีเหตุผลและยืนยันไม่ลดดอกเบี้ย

ส่วนที่ฝ่ายค้านชี้การพูดของ น.ส.แพทองธารเป็นการบีบผู้ว่าการ ธปท.ให้เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้น นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ตนไม่เคยบีบทาง ธปท. แต่เป็นเพียงการสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนเท่านั้น และในส่วนของโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลตจะถึงมือประชาชนภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 36.71-36.83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.83/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/5) ที่ระดับ 1.0769/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/5) ที่ระดับ 1.0741/43 นักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งกล่าวว่า การที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเฟด ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อกลุ่มประเทศยูโรโซน สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ECB มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. เว้นแต่จะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น

อีกทั้งตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดยิ่งหนุนให้มีการเร่งปรับลดต้นทุนการกู้ยืม ขณะที่เฟดระบุในแถลงการณ์ว่า คาดว่าจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะมีข้อมูลที่ทำให้มั่นใจมากขึ้นว่า อัตราเงินเฟ้อกำลังลดลงสู่ระดับเป้าหมายอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับถ้อยแถลงหลังการประชุมเดือนมีนาคมและมกราคม ทั้งนี้ในระหว่างวันยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0752-1.0776 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0761/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/5) ที่ระดับ 154.19/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/5) ที่ระดับ 153.07/08 โดยเยนมีแนวโน้มทำสถิติพุ่งขึ้นในสัปดาห์ก่อนมากสุดในรอบกว่า 1 ปี โดยได้แรงหนุนจากการแทรกแซงตลาดของทางการญี่ปุ่นเพื่อพยุงค่าเงินเยนจากระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี

ข้อมูลจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำการแทรกแซงตลาดในสัปดาห์ก่อนเพื่อพยุงค่าเงินเยน ด้วยการเข้าซื้อเยนและเทขายดอลลาร์ คิดเป็นวงเงิน 9.16 ล้านล้านเยน หรือ 5,979 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากเยนดิ่งลงแตะระดับ 160.24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี

โดยการแทรกแซงตลาดดังกล่าว ส่งผลให้เยนแข็งค่าขึ้นเกือบ 8 เยน เทียบดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 153.85-154.65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 154.50/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนมีนาคม (8/5), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (8/5), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (9/5), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน พ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (10/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.45/-9.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.50/-7.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ