“ม.ธรรมศาสตร์” ตั้งศูนย์กฎหมายสู้โควิด บริการฟรี โดยทีมคณาจารย์

ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ชัดเจนขึ้นตามระยะเวลาที่ทอดยาวออกไป มีธุรกิจจำนวนมากที่ประกาศลดชั่วโมงการจ้างงานเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย บางแห่งตัดสินใจเลิกจ้างพนักงาน หรือถึงขั้นปิดกิจการถาวรก็มีให้เห็นไม่น้อย ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเป็นลูกโซ่เหล่านั้นมักจะตามมาด้วยข้อพิพาททางกฎหมาย เห็นได้จากสถิติการขอรับบริการที่ศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโคโรน่าไวรัส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU Pandemic Legal Aid Centre) ที่เกินครึ่งเกี่ยวข้องกับการจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘การเลิกจ้าง’ และยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้า-ออกประเทศ ฯลฯ

“รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน” คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าว่า ที่จริงแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ก่อตั้ง ศูนย์นิติศาสตร์ มาตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน เดิมทีศูนย์นิติศาสตร์ให้บริการเฉพาะประชาชนผู้ยากไร้ แต่ขณะนี้ได้ปรับเปลี่ยนมาให้บริการแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยจะมีฐานะหรืออาชีพใดก็ได้ แต่ทั้งหมดต้องเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ใช่นิติบุคคลหรือบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ในทางการค้า

ปัจจุบันภารกิจของศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมายแห่งจะดำเนินการใน 2 เรื่องใหญ่ ๆ ได้แก่ 1.ให้คำปรึกษาและให้ความเห็นทางกฎหมาย โดยไม่รวมถึงการว่าความ 2.ให้ความรู้ทางกฎหมายในแง่มุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด 19 สำหรับการให้บริการที่ผ่านมาจะเน้นการพูดคุยแบบพบปะเจอหน้าซึ่งกันและกัน แต่ในสถานการณ์พิเศษนี้ได้ปรับเปลี่ยนมาให้คำปรึกษาผ่านทางออนไลน์สองช่องทางหลัก คือ Facebook เพจ TU Pandemic Legal Aid Centre และอีเมล [email protected] ซึ่งทางศูนย์ฯ มีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขากฎหมายต่าง ๆ กว่า 10 ชีวิตเป็นผู้ให้ความเห็น และมีบัณฑิตจบใหม่รวมถึงนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของคณะนิติศาสตร์ เป็นผู้รับเรื่องจากเคสทางออนไลน์

“ขณะนี้ศูนย์ฯ ได้ให้คำปรึกษาทางกฎหมายในกรณีที่มีข้อเท็จจริงและปัญหาทางกฎหมายที่มีความซับซ้อนจำนวน 30 กรณี โดยแต่ละกรณีจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 72 ชั่วโมง นับตั้งแต่เริ่มรับเรื่อง ประชุมของผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ความเห็น เรียบเรียงความเห็น ตรวจทานความเห็น และส่งคำปรึกษาคืนให้แก่ผู้ที่เดือดร้อน ส่วนใหญ่กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาเพียงแค่ 24-48 ชั่วโมงเท่านั้น”

“รศ.ดร.มุนินทร์” อธิบายเพิ่มเติมว่า จริง ๆ แล้วทางศูนย์ฯ ได้ตอบคำถามไปมากกว่า 30 กรณี แต่ 30 กรณีที่ว่านี้เป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริงที่ซับซ้อนและมีประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่แตกต่างจากเดิม ถ้ามีคำถามหรือปัญหาเหมือนกับกรณีที่ได้ตอบไปแล้ว จะใช้ความเห็นทางกฎหมายเดียวกันตอบโดยไม่นับเป็นกรณีใหม่

“ในส่วนของการให้ความรู้ทางกฎหมาย ศูนย์ฯ เผยแพร่เป็นบทความขนาดสั้นผ่านช่องทางเพจ TU Pandemic Legal Aid Centre บน Facebook เช่นเรื่องผลกระทบที่มีต่อสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญา เรื่องความรับผิดทางอาญาของคนที่เผยแพร่ข้อมูลโควิด-19 แล้วก่อให้เกิดผลกระทบแก่บุคคลอื่น เรื่องการเลิกจ้างและสิทธิค่าชดเชย เรื่องความสัมพันธ์ทางสัญญา หนี้ เรื่องสิทธิของคนที่อยู่ต่างประเทศ เป็นต้น หรือนำประเด็นปัญหาที่ถูกถามบ่อย ๆ และสังคมกำลังให้ความสนใจมาเขียนเป็นบทความวิชาการขนาดสั้น 2-3 หน้า”