มองมุมคิด “ครูเบล” การศึกษาสิงคโปร์ สอนให้มองเป้าหมาย

ศุภนุช ชือรัตนกุล หรือ "ครูเบล"

ต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ ถือว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก แต่การที่นักเรียนไทยจะสอบเข้าโรงเรียนของรัฐบาลสิงคโปร์ได้นั้นเป็นเรื่องยากพอสมควร เพราะด่านแรกที่นักเรียนจะต้องผ่านคือการสอบ AEIS (admissions exercise for international students) ซึ่งเป็นข้อสอบสำหรับนักเรียนต่างชาติที่ไม่ใช่คนสิงคโปร์

จึงนับเป็นประตูสำคัญในการไปหาประสบการณ์การศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปดูประวัตินักเรียนไทยที่เคยไปเรียนที่ประเทศสิงคโปร์ตั้งแต่อายุ 11 ปี โดยเริ่มเข้าเรียนตั้งแต่ ป.4 และจบ sec 4 (O-level) โดยในระดับการศึกษา sec 1-3 มีผลการเรียนเป็นอันดับ 1 ของชั้นติดต่อกัน 3 ปีซ้อน กลับเป็นนักเรียนหญิงไทยคนหนึ่งที่ชื่อ “ศุภนุช ชือรัตนกุล” หรือ “ครูเบล” ในปัจจุบัน

“ศุภนุช” เล่าย้อนให้ฟังถึงประวัติสมัยเริ่มไปสอบเข้าโรงเรียนรัฐบาลสิงคโปร์ว่า ความสำเร็จของเบลในวันนั้นมาจากครอบครัวก็คือ คุณแม่ ซึ่งท่านเป็นคนเก่ง มีวิสัยทัศน์ที่ดี และกล้าตัดสินใจ ถ้ารู้ว่าอะไรดีจะพุ่งไปที่เป้าหมายนั้น เพื่อวางเส้นทางให้ลูก ๆโดยพี่ชายของเบลเป็นคนแรกที่ไปสิงคโปร์ตั้งแต่เด็ก ตอนเดินทางไปใหม่ ๆแม่บอกเพียงแค่ว่าจะพาพวกเราไปเที่ยว และสั่งให้ทุกคนเก็บของ

“แต่พอไปถึงสิงคโปร์เท่านั้น แม่พาไปดูบ้าน (host family) ที่จะให้พี่ชายไปพักอยู่ แม่ของเบลใช้อุบายให้พี่ชายไปเล่นสระว่ายน้ำ สักพักแม่ก็บอกว่าให้อยู่ที่บ้านนี้นะ จากนั้นแม่ก็กลับกรุงเทพฯทันที แบบที่พี่ชายเองก็ไม่ทันได้ตั้งตัว ส่วนคนที่สองคือตัวเบลเอง ซึ่งก่อนที่จะเดินทางไปสิงคโปร์ เบลรู้อยู่ในใจแล้วว่าแม่ต้องการให้อยู่สิงคโปร์เช่นเดียวกับพี่ชาย เพียงแค่อยู่กันคนละโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งในช่วงแรกที่เบลไปอยู่บอกได้เลยว่าฟังภาษาอังกฤษไม่ออก และพูดไม่ได้เลย ทำให้น้ำหนักลดลงไปถึง 13 กิโลกรัม”

“แต่ไม่นานภายใน 3 เดือน ก็เริ่มพูดได้เหมือนกับคนอื่น ๆ ที่ไปอยู่ เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมที่ทุกคนต้องพูดภาษาอังกฤษ เราจึงต้องปรับตัว และอยู่กับมันให้ได้ เบลเริ่มเรียนที่สิงคโปร์ตั้งแต่อายุ 11-17 ปี คือแรกเริ่มเข้าตั้งแต่ ป.4และจบ sec 4 (O-level) โดยในระดับการศึกษา sec 1-3 มีผลการเรียนเป็นอันดับ 1 ของชั้นติดต่อกัน 3 ปีซ้อน และได้กลับมาศึกษาต่อในระดับปริญาตรี Mahidol University International College (MUIC) สาขาวิชาชีววิทยา โดยมีผลการเรียนเกียรตินิยมอันดับ 1 และได้รับทุนรัฐบาลไทยให้ศึกษาต่อปริญญาโทที่สถาบัน Asian Institute of Technology (AIT) นอกจากผลงานด้านการศึกษาแล้ว ช่วงที่กำลังเรียนอยู่มีความสนใจด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยจึงสมัครและรับทุนแลกเปลี่ยนในต่างประเทศถึง 9 ประเทศ ยังได้ร่วมกิจกรรมพิเศษอีกมากมาย”

“ศุภนุช” เล่าให้ฟังต่อว่า สำหรับในยุค new normal ซึ่งเกิดขึ้นมาจากภาวะวิกฤตการระบาดของโควิด-19ส่งผลให้โรงเรียนต้องเลื่อนการเปิดเทอม เด็กนักเรียน และผู้ปกครองเองก็ต้องมีการปรับตัว โดยในมุมมองของเบลมองว่า อารมณ์ของเด็ก ๆ ตอนนี้อยากไปโรงเรียนมาก เพราะจะได้เจอเพื่อน ๆได้เรียนหนังสือ ในขณะที่ผู้ปกครองเองก็เริ่มรับมือไม่ไหวที่จะต้องเฝ้าเด็กในช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กเล็กที่มักจะอยู่ไม่นิ่ง

“อย่างไรก็ตาม ยอมรับการเรียนแบบตัวต่อตัวจะช่วยให้เด็กมีสมาธิ และจดจ่อกับการเรียนมากกว่า แต่สำหรับการเรียนออนไลน์ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่เด็ก ๆ ในต่างจังหวัด ได้เข้าถึงเนื้อหาเท่าเทียมกับเด็กในกรุงเทพฯ หรือในเมืองใหญ่ ๆ ทำให้เด็กสามารถเรียนกับครูดัง ๆ ได้ ซึ่งที่สิงคโปร์ได้ทำการเรียนออนไลน์แล้วสามารถประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงเนื้อหาการเรียนได้มากขึ้น

แต่ของประเทศไทยมีอุปสรรคสำคัญ คือ ความไม่พร้อมในเรื่องเทคโนโลยี เด็กต้องมีอุปกรณ์ที่ดีสามารถรองรับการเรียนออนไลน์ได้ และก็ไม่ใช่ทุกบ้านที่จะมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม ยิ่งถ้าเป็นในพื้นที่ห่างไกล การเข้าถึงยิ่งยากลำบากกว่า”

“สำหรับในมุมมองของผู้ปกครองเองต่างก็ต้องคำนึงความปลอดภัยของบุตร-หลานด้วยเป็นหลัก โรงเรียนหรือสถาบันกวดวิชาต่าง ๆ ต้องเตรียมมาตรการการป้องกันไว้อย่างดี ผู้ปกครองบางท่านเลือกที่จะรอให้การระบาดของโควิด-19 ผ่านพ้นไปก่อนค่อยส่งบุตร-หลานไปเรียน การเรียนออนไลน์จึงเป็นทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้ แต่หากมีความกังวลว่าการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ไม่มีความเข้มข้นเท่าการไปโรงเรียน ทางเบลเองก็มีวิธีแก้คือปรับที่คอนเทนต์ ถ้าเด็กเรียนแล้วไม่สนุก หรือรู้สึกว่าเด็กไม่จดจ่อกับการเรียน ครูก็ต้องปรับคอนเทนต์เป็นรูปแบบอื่น เช่น วิดีโอ หรือการ์ตูน เพื่อให้เด็กเกิดความสนใจ และสามารถนั่งเรียนต่อเป็นชั่วโมงได้”

“เบลจะบอก และสอนน้อง ๆ เสมอ โดยเฉพาะคนที่อยากไปเข้าเรียนที่สิงคโปร์ คือ ต้องกล้าตั้งเป้าหมายให้สูงไว้ เพราะที่นั่งที่กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ได้จัดให้กับเด็กต่างชาตินั้นมีน้อย สิงคโปร์จะใช้วิธีให้เด็กจากทั่วโลกมารวมกันแล้วสอบแข่งขันเพื่อคัดนักเรียนท็อป 10 แต่ก็ยังมีเด็ก ๆ อยากไป เพราะระบบการศึกษาของสิงคโปร์ถือว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก ด้วยการเรียนการสอนที่เป็นระบบ ไม่เน้นท่องจำ แต่เน้นการเข้าใจ เน้นแอปพลิเคชั่นให้เด็กเข้าใจ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และค่าใช้จ่ายไม่แพงมาก ทั้งยังมีความปลอดภัย สุดท้ายอยากจะบอกว่าการที่เด็กจะเก่ง หรือไม่เก่ง ต้องดูที่เด็กคนนั้นมีเป้าหมายไหม เบลจะเน้นย้ำสอนการตั้งเป้า และส่งเสริมให้เด็กลงมือทำด้วยตัวเอง”

อันเป็นคำตอบของ “ศุภนุช” หรือ “ครูเบล” ในวันนี้

ในวันที่กำลังเป็นติวเตอร์อิสระเพื่อสอนนักเรียนไทยให้ไปเรียนต่อที่ประเทศสิงคโปร์