มหาวิทยาลัยรื้อหลักสูตรการบิน แก้เกมนักศึกษาแห่ย้ายสาขา

ภาพประกอบข่าว

พิษโควิดลามไม่หยุด สบพ.มึน สมัครฝึกนักบินวูบ 50% เบรกลงทุนป้อนคนโปรเจ็กต์อู่ตะเภา เผยสถาบันด้านการบินเอกชนแห่ปิดตัว มหา”ลัยเปิดทางให้ย้ายสาขา ลดค่าเทอม ผ่อนยาว 4 งวด ม.สุรนารียกเครื่องหลักสูตรใหม่ ม.รังสิตลดค่าฝึกบิน การันตีจบแล้วเข้าทำงานแอร์เอเชียได้ทันที

สมัครเรียนวูบ 50%

นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร รักษาการผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์โควิดส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน ทำให้โรงเรียนการบินมีนักศึกษาเข้ามาสมัครเรียนทั้งระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี และปริญญาโท ลดลงกว่า 50%

โดย สบพ.ได้ปรับรูปแบบการรับสมัครจากเดิมรับตรงปีละครั้ง แต่ปีการศึกษา 2564 จะเปิดรับสมัคร 3 รอบ เพื่อให้ได้นักเรียนตามจำนวนที่ตั้งไว้ 550 คน/ปี ได้แก่ รอบที่ 1 portfolio ปิดรับสมัครแล้ว รอบที่ 2 โควตา รับสมัครวันที่ 18 ม.ค.-25 ก.พ. 2564 และรอบที่ 3 รับตรงวันที่ 16 ธ.ค. 2563-1 เม.ย. 2564

“เมื่อก่อนมีสมัครเรียน 4,000 คน การแข่งขันสอบคัดเลือกสูง จะได้คนเก่ง แต่พอยอดสมัครลดเหลือ 1,000 คน รับได้ 550 คน ก็เหมือนเราโกยคนเข้ามาเรียน ขณะที่มาตรฐานยังสูง ทำให้มีนักเรียนทยอยลาออกกลางคัน เหลืออยู่ในระบบน้อย ไม่ค่อยมีคุณภาพ ซึ่งใช้ทุนส่วนตัวเรียน”

หลักสูตรไม่มีคนเรียน

นางสาวภัคณัฏฐ์กล่าวอีกว่า สำหรับหลักสูตรการเรียนการสอนยังเปิดเรียนทุกหลักสูตร ได้แก่ ภาควิชาภาคพื้น ภาคอากาศ และฝึกอบรม แต่ที่ไม่มีคนเรียนเลย คือ หลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรีนับจากปลายปี 2562 เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี สถานการณ์โควิด มีการปิดน่านฟ้า รวมถึง บมจ.การบินไทยเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ทำให้นักบินตกงาน สายการบินปิดตัว คนจึงขาดความเชื่อมั่น ซึ่ง สบพ.พยายามคิดหลักสูตรอบรมเพิ่มความรู้ให้กับคนที่มีอาชีพอยู่แล้ว

Advertisment

ซึ่งสวนทางกับกระแสก่อนหน้านี้ที่ว่านักบินขาดแคลน หลังประเทศไทยถูกปักธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เมื่อปี 2558 ทำให้มีผู้สนใจเรียนจำนวนมาก ขณะที่โรงเรียนการบินก็เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด จนล้นตลาดถึง 500-600 คน หลังเกิดสถานการณ์โควิดเพียง 1 ปี

“ลูกค้าหลักเราคือการบินไทย จะส่งมาฝึกอบรมปีละ 60-80 คน และส่งฝึกที่โรงเรียนเอกชนด้วย ทำให้เหลือฝึกที่นี่ไม่ถึง 30 คน เมื่อปี 2562 หลังเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องก็หยุดส่งคนมา จนเกิดโควิดในเดือน มี.ค. 2563 จึงเรียกพนักงานที่กำลังฝึกกลับทันที และยังค้างชำระอีก 10 ล้านบาท ซึ่งได้ยื่นให้ชำระแล้วในแผนฟื้นฟู”

รายได้เหลือ 150 ล้าน

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรนักบินเป็นรายได้หลักของ สบพ. เพราะค่าเรียนสูงอยู่ที่ 2.3 ล้านบาท/คน ใช้เวลาเรียน 1 ปี เมื่อไม่มีคนเรียน ทำให้ขาดรายได้ จากเดิมผลิตนักบินออกสู่ตลาดปีละ 100 คน มีรายได้รวมปีละ 400 ล้านบาท ปีนี้เหลือ 150 ล้านบาท แต่ไม่ได้ยุบองค์กร จะเปิดเรียนเมื่อมีนักเรียนเข้ามาในจำนวนที่เพียงพอ ปัจจุบันเปิดสอนหลักสูตรนักบินส่วนบุคคล มีเรียน 4 คน ค่าเรียน 300,000-400,000 บาท/คน

จากผลกระทบทำให้ สบพ.เสียศูนย์ และต้องรอให้อุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งส่งผลต่อโครงการลงทุนศูนย์พัฒนาบุคลากรการบินและอวกาศที่เมืองการบินอู่ตะเภาด้วย

Advertisment

รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันโรงเรียนการบินของเอกชนได้รับผลกระทบเช่นกัน เช่น โรงเรียนการบินกรุงเทพ (BAC) ที่ผลิตนักบินป้อนให้กับสายการบินแอร์เอเชีย, ศูนย์ฝึกการบินที่สุโขทัยของบางกอกแอร์ เอวิเอชั่น เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ ในเครือบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งเปิดช่วงโควิดพอดี และมีบางมหาวิทยาลัยที่ปิดการสอนไปแล้ว เช่น วิทยาลัยการบินนานาชาติ มหาวิทยาลัยนครพนม, โรงเรียนการบินของ บจ.ศรีราชา เอวิเอชั่น

ม.สุรนารีปรับตัว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชโลธร ธรรมแท้ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบถึงความสนใจของนักศึกษาใหม่ และนักศึกษาที่อยู่ในระหว่างเรียนหลักสูตร ทั้งขอย้ายสาขาเรียน หรือลาออกเพื่อไปศึกษาสถาบันอื่น ๆ ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันการเรียนในระดับปริญญาตรีการแข่งขันค่อนข้างสูง

และไม่ได้แข่งขันกันแต่เฉพาะระดับมหาวิทยาลัยสำหรับสาขาที่เกี่ยวข้องกับการบินเท่านั้น ยังมีการเปิดสอนในสาขาซ่อมแซมอากาศยานในระดับ ปวช.และ ปวส.เข้ามาเป็นคู่แข่งด้วย และเมื่อเจอวิกฤตโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจึงได้รับผลกระทบอย่างหนัก ยิ่งทำให้การแข่งขันสูงขึ้นไปอีก นอกจากนี้ยังมีสถาบันที่สอนด้านการบินโดยเฉพาะมากขึ้น จากเดิมก่อนหน้านี้มีเพียง 5-6 แห่ง

ปัจจุบันเพิ่มเป็น 7-8 แห่ง ซึ่งความซบเซาของอุตสาหกรรมการบินต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกสักระยะ ฉะนั้นเพื่อดึงดูดนักศึกษาใหม่ ในปี 2564 จึงเตรียมเปิดสาขาวิชาวิศวกรรมด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพราะในอนาคตก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น

สจล.ลุยศึกษาโรบอตนักบิน

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ระบุว่า สำหรับสาขาวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ของ สจล.ยังคงได้รับความนิยมจากนักศึกษา และมองว่าภายใต้วิกฤตการระบาดของโควิด-19 สถาบันการศึกษากลับมองเป็นโอกาสที่จะใช้ช่วงเวลานี้บ่มเพาะบัณฑิตวิศวกรรมด้านการบินให้มีความสามารถเทียบเท่ามาตรฐานสากล ดังนั้นเมื่ออุตสาหกรรมการบินฟื้นตัวเต็มที่ ในประเทศของเราจะมีบุคลากรทางด้านการบินรองรับความต้องการของตลาดงานทันที แต่อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี นอกจากนี้

สจล.ยังมองว่าในอนาคตจะต้องเตรียมความพร้อมในสาขาวิศวกรรมการบินที่จะมีการพัฒนาเครื่องบินหุ่นยนต์และระบบซอฟต์แวร์ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้แน่นอน ทั้งนี้ในปัจจุบัน สจล.รับนักศึกษาในสาขาวิศวกรรมการบินอยู่ที่ 100 คน/ปี เนื่องจากข้อจำกัดด้านครูฝึกบินที่ค่อนข้างน้อย เพราะหลักสูตรของ สจล.ระบุคุณสมบัติของครูผู้สอนจากชั่วโมงบินด้วย เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากมืออาชีพอย่างแท้จริง

ในช่วงที่อุตสาหกรรมการบินได้รับความนิยมทำให้มีสายการบินโลว์คอสต์เกิดขึ้นอย่างมากมาย จึงทำให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลหลายแห่งแห่เปิดหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการบินมากขึ้น แต่เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกหยุดชะงักลง นักศึกษาที่สนใจอยากสมัครเรียนในสาขาการบินน้อยลงมาก ผลตรงนี้อาจทำให้ต้องมาทบทวนอีกครั้งว่าจะปิดหลักสูตรหรือไม่

“ทุกสถาบันต้องตั้งรับกับภาวะความเสี่ยงครั้งนี้ เพราะผ่านมาเราได้เรียนรู้จากการเปลี่ยนแแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปต์ธุรกิจการบินมาแล้ว แต่สำหรับครั้งนี้ใหญ่กว่ามาก เพราะเป็นเรื่องของมหันตภัยไวรัสที่เข้ามากระทบกับธุรกิจการบิน และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับภาคการบินด้วย ดังนั้นมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาต่าง ๆ ที่ไม่มีนักศึกษาสมัครเรียนก็ควรปิดหลักสูตร หรือปรับปรุงหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมการบินด้วย”

ม.รังสิตลดค่าเทอม-ผ่อนชำระ

ขณะที่พลอากาศเอกคธาทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา คณบดีสถาบันการบิน มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า จากการระบาดของโควิด-19 ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อการเลือกเรียนสาขาที่เกี่ยวข้องกับการบิน ไปจนถึงพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินอย่างมาก และอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี เพื่อกลับมาฟื้นตัว หรือราวปี 2565 อาจจะเริ่มฟื้นตัว สำหรับสถาบันการบินของมหาวิทยาลัยรังสิตนั้น เปิดหลักสูตรการบินมากว่า 15 ปี จากเดิมรับนักศึกษามากที่สุดอยู่ที่ 150 คน/ปี โดยการเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ปี 2563 มีนักศึกษาสมัครเรียนเพียง 20 คนเท่านั้น และล่าสุดการเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ปี 2564 ที่เริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 มีนักศึกษาเข้ามาสมัครเรียนเพียง 4 คนเท่านั้น

จากจำนวนนักศึกษาที่มีจำนวนลดลงค่อนข้างมากนั้น สถาบันการบินจึงดำเนินการ 2 เรื่อง คือลดค่าฝึกบินตลอดหลักสูตร 4 ปี จากเดิม 2.8 ล้านบาท มาอยู่ที่ 2.7 ล้านบาท และนักศึกษายังสามารถผ่อนชำระค่าเทอมได้จากเดิมต้องผ่อนชำระ 2 งวด ให้เพิ่มเป็น 4 งวด (หน้า 1, 9)