“เอสซีจี” ปลุกพลังครูอนุบาล พัฒนาการเด็กด้วยหนังสือภาพ

นอกจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง จะเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลส่งเสริมพัฒนาการให้กับบุตรหลานอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัยแล้ว ยังมีบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก ในการทำหน้าที่ดูแลเด็ก ๆ ด้วยความใส่ใจเมื่อถึงวัยที่พวกเขาต้องเข้าโรงเรียน นั่นคือ “คุณครูอนุบาล”

ในแต่ละวันครูกลุ่มนี้จะต้องคอยเฝ้าสังเกต และเรียนรู้ลักษณะนิสัยใจคอของเด็กแต่ละคนอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็ก ๆ ให้เติบโตขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ มูลนิธิเอสซีจีจัดเวิร์กช็อปแบ่งปันองค์ความรู้ และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญให้กับตัวแทนคุณครูอนุบาลทั่วประเทศกว่า 70 คน เพื่อให้บรรดาแม่พิมพ์ของชาตินำกระบวนการเรียนรู้ และเครื่องมือต่าง ๆ ไปใช้เสริมสร้างพัฒนาการของเด็กอย่างถูกต้อง

“สุวิมล จิวาลักษณ์” กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า มูลนิธิเอสซีจีเล็งเห็นความสำคัญของบุคลากรผู้ทำหน้าที่ดูแล และใกล้ชิดกับเด็กเล็ก จึงขยายแนวคิดเรื่องการใช้หนังสือภาพ และกระบวนการเล่านิทาน อ่านหนังสือ ไปสู่กลุ่มคุณครูอนุบาลเหล่านี้ เพื่อจุดประกายให้พวกเขานำความรู้ไปใช้พัฒนา และเติมเต็มให้เด็ก ๆ มีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และสมาธิที่ยาวนานขึ้น

“การเล่านิทานอ่านหนังสือเป็นวิธีการที่ทำได้ง่าย ประหยัด ทรงพลัง และเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุดอย่างหนึ่ง เพียงอ่านหนังสือให้เด็กฟังวันละ 10-15 นาทีเท่านั้น รวมทั้งเป็นโอกาสให้พ่อแม่ช่วยพัฒนาลูกน้อยทั้งด้านร่างกาย หรืออารมณ์ความรู้สึก ทั้งยังเป็นการเชื่อมสายใยรัก และความอบอุ่นของครอบครัวให้แนบแน่นอีกด้วย”

ทั้งนั้น มูลนิธิเอสซีจีมุ่งมั่นสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยผ่านกระบวนการเล่านิทาน อ่านหนังสือ ภายใต้โครงการมหัศจรรย์หนังสือภาพ มาตั้งแต่ปี 2547 รวมทั้งยังจัดทำชุดหนังสือภาพ ภายใต้โครงการนำหนังสือดีสู่เด็กไทย มาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเด็กอย่างคุณครู ได้นำไปใช้ในการพัฒนาเด็ก

“วรนันท์ ประเสริฐเมธ” นักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก วิทยากรในการอบรม กล่าวว่า พัฒนาการในวัยเด็กมีส่วนสัมพันธ์กันหลายด้าน เช่น ร่างกาย สติปัญญา ภาษา อารมณ์ และสังคม ดังนั้น เด็กในช่วงวัยแรกเกิด-6 ปี จึงสมควรที่จะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู ไม่ว่าจะเป็นการเอาใจใส่ และสังเกตพฤติกรรมการแสดงออก

“โดยเฉพาะการใช้อารมณ์ของเด็ก เพราะถ้าเด็กรู้ว่าตอนนี้เขารู้สึกอย่างไร เขาจะเกิดความเข้าใจ เรียนรู้ภาษา และสมองจะเก็บบันทึกเป็นคลังคำศัพท์ให้โดยอัตโนมัติ ทำให้เด็กสื่อสารได้อย่างเข้าใจความหมาย และยิ่งเด็กมีคลังคำศัพท์เยอะเท่าไร จะยิ่งสื่อสารได้เร็วเท่านั้น โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูสามารถเพิ่มคลังคำศัพท์ให้กับเด็กได้ ด้วยการใช้หนังสือภาพเป็นเครื่องมือ””เพราะเมื่อเด็กได้สัมผัส และพลิกดูภาพจากหนังสือจะเกิดจินตนาการ สมองสร้างเรื่องราว และเชื่อมโยงภาพกับประสบการณ์เข้าด้วยกัน เมื่อเขาเข้าใจจะได้คำศัพท์เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ หนังสือภาพสามารถเป็นสื่อกลางระหว่างพ่อแม่ลูกที่ทำให้เกิดสายใยระหว่างกันได้ เมื่อลูกได้รับสัมผัสจากพ่อแม่ เช่นการอุ้มลูกนั่งตัก การกอดรัด ควบคู่ไปกับการใช้หนังสือ อีกทั้งเด็กจะจดจำน้ำเสียง จังหวะ ท่าทาง แม้กระทั่งความอุ่นจากร่างกายพ่อแม่ได้ด้วย”

“ละเอียด คำสุนทร” ผู้สอนระดับชั้นอนุบาล 1-2 โรงเรียนวัดหนองเมือง (สามัคคีราษฎร์รังสฤษฎ์) จ.ลพบุรี หนึ่งในผู้เข้ารับการอบรม กล่าวว่า การได้เรียนรู้วิธีการเลือก และใช้หนังสือภาพให้เหมาะกับช่วงวัยของเด็ก ช่วยเติมเต็มองค์ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก และการใช้เครื่องมือเพื่อพัฒนาเด็กให้สมบูรณ์ขึ้น

“อีกเรื่องที่น่าสนใจมาก และเป็นหนึ่งในหัวข้อของการอบรม คือการสื่อสารกับเด็กผ่านการสังเกตอารมณ์ของพวกเขา ซึ่งถ้าเราเข้าใจและปฏิบัติกับเด็กอย่างถูกวิธีแล้ว เด็กจะมีพัฒนาการทางสังคมที่ยอดเยี่ยม และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไป”