อว.เร่งเครื่อง BCG ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้

ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

กระทรวง อว.มอบนโยบายหน่วยงานในสังกัด เร่งเครื่องโมเดลเศรษฐกิจ BCG ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ 5 จังหวัด เน้นสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ใช้เทคโนโลยีผลิตสินค้าแบรนด์ทุ่งกุลา ตั้งเป้าสำเร็จภายใน 1-2 ปี

วันที่ 27 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการขับเคลื่อน “โปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้” ได้ร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ZOOM MEETING เพื่อมอบนโยบายและแนวคิดการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้

โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อน นำเสนอโครงการเร่งด่วน หรือ Quick Win project ต่อผู้บริหารจังหวัด และมหาวิทยาลัยในพื้นที่จากทั้ง 5 จังหวัด

ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร โดยการประชุมออนไลน์ในแต่ละจังหวัดมีหัวหน้าส่วนราชการ, ผู้บริหารมหาวิทยาลัยในพื้นที่ รวมทั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และจากภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมรับทราบนโยบาย

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.ได้มอบนโยบายให้เร่งแก้จนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยมุ่งเป้าการขับเคลื่อนงานให้สำเร็จภายใน 1-2 ปี เช่น เน้นการทำเกษตรปลอดภัย เกษตรประณีต เกษตรมูลค่าสูง เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ การสร้างแบรนด์ (Branding) ของทุ่งกุลา เปลี่ยนจากความยากจนเป็นรุ่งเรือง สร้างสรรค์ ผลิตสินค้าแบรนด์ทุ่งกุลาให้คนในพื้นที่ทุ่งกุลามีความภูมิใจในการเป็นคนทุ่งกุลา สร้างผู้นำ BCG สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ทรหด อดทน มุมานะ รู้จักรับและปรับใช้เทคโนโลยี สามารถพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพและรายได้อย่างมั่นคงยั่งยืน

Advertisment

ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยตั้งเป้าหมายให้ผู้ที่มีรายได้น้อย อย่างน้อยร้อยละ 50 ในพื้นที่ให้มีรายได้ก้าวพ้นเส้นความยากจน (มากกว่า 38,000 บาทต่อคนต่อปี)

และยกระดับเกษตรกรต้นแบบอย่างน้อยร้อยละ 10 ของเกษตรกรในพื้นที่ และด้านประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพมาตรฐาน ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 10 ตามแนวทางการขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นการใช้ฐานทรัพยากรที่โดดเด่นและหลากหลาย และยังเป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่ ยกระดับให้ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารไทยที่มีคุณภาพครบวงจร

เน้นการทำเกษตรพรีเมี่ยม เกษตรมูลค่าสูง การผลิตที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดของเสียในกระบวนการผลิตน้อยที่สุด หรือเป็น zero waste และสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ใช้กลไกตลาดนำการผลิต เน้นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่ผสานศิลปะวัฒนธรรมภูมิปัญญาของท้องถิ่น และนวัตกรรม สร้างแบรนด์ทุ่งกุลาร้องไห้ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล

สำหรับการดำเนินงานในพื้นที่ 5 จังหวัดได้กำหนดคนจนพื้นที่เป้าหมายใน 7 อำเภอ 26 ตำบล และเกษตรกรต้นแบบใน 10 อำเภอ 39 ตำบล นำร่องโครงการเร่งด่วน (Quick win project) เพื่อการยกระดับสินค้าหลักในพื้นที่ อาทิ ข้าว พืชหลังนา โคเนื้อ ประมง ผักอินทรีย์ พืชสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่ให้มีคุณภาพมาตรฐาน และมูลค่าเพิ่ม โดยคาดหวังผลลัพธ์ที่จะนำไปสู่การยกระดับรายได้ เกิดอาชีพ การจ้างงานตลอดห่วงโซ่การผลิตในพื้นที่ ลดการเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกพื้นที่ เกิดแบรนด์สินค้าพรีเมียมไปสู่ตลาดสากล เกิดเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ ในพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงตลาด เกิดผู้ประกอบการใหม่ในพื้นที่ เกิดตลาดกลางในพื้นที่เชื่อมโยงกับตลาดสากล

Advertisment

นอกจากนั้นแล้วที่ประชุมได้รายงานให้ทราบถึงการจัดตั้งคณะทำงานในระดับพื้นที่ คือ คณะทำงานขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 5 จังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นประธาน มีหน้าที่จัดทำเป้าหมายและแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนในแต่ละจังหวัด ให้เป็นไปตามแผนและเป้าหมาย ในระดับนโยบาย และการผลักดันให้เกิดความต่อเนื่องของกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเร่งแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป