“CPF” ผนึก “คูลิเนอร์” สร้างเชฟมืออาชีพลุยธุรกิจอาหาร-

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดตัวโรงเรียนศิลปะการอาหาร และผู้ประกอบการคูลิเนอร์แห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชั้น 5 ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียมด้วยการเรียนการสอนที่ทันสมัย (innovative learning) ทั้งยังนำระบบ smartboards tablets และ e-Books มาเสริมสร้างความเข้าใจในการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงข้อมูลอันเกิดประโยชน์สูงสุด

“สุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข” ประธานคณะผู้บริหารธุรกิจอาหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่าการเปิดโรงเรียนสอนทำอาหารได้รับการออกแบบจาก Lausanne Hospitality Consulting (LHC) หน่วยงานทางด้านการศึกษา Ecole Hoteliere deLausanne (EHL) และสถาบันสอนการโรงแรมเก่าแก่ที่สุดของโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์

“สถาบันมีองค์ความรู้การบริหารจัดการด้านอาหาร รวมถึงการบริหารจัดการธุรกิจสู่การพัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน ในรูปแบบที่ทันสมัย และได้รับความไว้วางใจในระดับสากล อันสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของธนินท์
เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่บอกว่าการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการร้านอาหารและเชฟมืออาชีพของไทยต้องก้าวสู่ระดับโลก”

“โดยเปิดสอนหลักสูตรอินเตอร์ที่จะมอบความรู้และฝึกทักษะให้แก่ผู้เรียนชาวไทย และชาวต่างชาติ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจอาหารให้ขยายวงกว้างไปสู่ตลาดสากล ดังนั้น หากมองย้อนถึงวัตถุประสงค์หลักของการเปิดโรงเรียนสอนทำอาหาร คือ การสร้างเชฟระดับโลก และการสร้างเจ้าของธุรกิจ เพราะเรามุ่งหวังพัฒนากลุ่มคนทั่วไปให้กลายเป็นเชฟระดับมืออาชีพให้มีความสามารถหลากหลาย และมีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง โดยตั้งอยู่บนมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก”

“แอนโทนี ออสบอร์น” ผู้อำนวยการใหญ่โรงเรียนคูลิเนอร์ กล่าวเสริมว่า ระบบการจัดการหลักสูตรอินเตอร์ด้านอาหารและผู้ประกอบการแสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งได้รับการออกแบบและพัฒนาร่วมกับ LHG โดยตั้งเป้าสร้างเชฟมืออาชีพ และผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้านประกอบด้วยการควบคุมมาตรฐานด้านความปลอดภัย, การบริหารบุคลากร และการบริหารจัดการ

“เพราะการเรียนการสอนของโรงเรียนศิลปะการทำอาหาร และผู้ประกอบการคูลิเนอร์มุ่งเน้นการให้ความรู้ที่รอบด้าน และการนำเทคนิคต่าง ๆ มาปรับใช้ในการทำงาน ตลอดจนการเรียนรู้การวางแผน เพื่อจัดการบริหารบุคคลให้เกิดระบบคิดอย่างมีแบบแผน ผ่านการกระตุ้นระหว่างการเรียนในห้องครัวที่เสมือนการปฏิบัติงานจริง เพราะส่งตรงจากประสบการณ์ของเชฟมืออาชีพทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ”

“สำหรับหลักสูตรจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท 1) intensive courses ราคาเฉลี่ย/คอร์ส 15,000-72,000 บาท 2) short courses ราคาเฉลี่ย/คอร์ส 5,000-12,000 บาท 3) diploma progammeเป็นหลักสูตร 2 ปี (module ละ 6 เดือน)ราคาเฉลี่ย/คอร์ส 300,000 บาท โดยใช้การสอบเพื่อเข้าเรียน 4) entrepreneurshipand management เป็นหลักสูตรที่ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าน module 1, 2 และ 3 โดยราคาเฉลี่ย/คอร์ส 300,000 บาท”

“ส่วนการออกแบบสถานที่เราได้แรงบันดาลใจจากสีสันของอาหารที่จะเน้นส่งเสริมผู้เรียนฝึกรังสรรค์เมนูที่หลากหลายจนนำไปประกอบเพิ่มทักษะและพัฒนาศักยภาพ โดยห้องเรียนมีทั้งหมด 4 ห้องเช่น ห้องสีน้ำตาลจากข้าวบาร์เลย์, ห้องสีม่วงจากมะเขือม่วง, ห้องสีส้มจากส้มสายพันธุ์ไทย และห้องสีเขียวจากกะหล่ำปลี”

“สุขวัฒน์” กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนห้องครัวภาคปฏิบัติ (demo kitchen) อีก 6 ห้องมีจุดเด่นด้วยนวัตกรรมระบบฝ้าดูดครัวและระบายอากาศ (ventilation ceiling) ที่นำมาปรับใช้ในโรงเรียนสอนทำอาหาร ซึ่งเป็นที่แรกของประเทศไทย ทั้งยังเป็นนวัตกรรมที่ช่วยในการกำจัดปัญหาฝุ่นควันที่ช่วยยับยั้งการเกิดเชื้อโรคต่าง ๆ ด้วยระบบการจัดการที่ทันสมัย เพิ่มความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากนั้นทางโรงเรียนยังมีพื้นที่สำหรับผู้เรียนสามารถฝึกปฏิบัติงานจริง

“ภายในโรงเรียนมีร้านอาหารร้านเบเกอรี่ และบาร์เครื่องดื่ม อาทิ 1) ห้องอาหารการ์นิช ห้องอาหารที่เสนอบริการเต็มรูปแบบ 2) ห้องอาหารเฟลเวอร์ ห้องอาหารนานาชาติ ผ่านประสบการณ์ในรูปแบบกันเอง 3) ร้าน
เบเกอรี่และพาสทรีเกลซ ห้องสำหรับขนมหวานและขนมอบ 4) เดอะบาร์ ห้องที่เต็มไปด้วยเครื่องดื่มที่หลากหลาย พร้อมเอกลักษณ์เฉพาะตัว

“แต่ละหลักสูตรมุ่งเน้นด้านการประกอบอาหาร การบริหาร และการจัดการร้านอาหาร ด้วยห้องเรียนที่มีการจัดสรรพื้นที่ในการใช้สอยที่เอื้อประโยชน์ต่อการเข้าถึงอุปกรณ์และการเรียนรู้อย่างทั่วถึง พร้อมกับรับคำแนะนำจากเชฟชั้นนำที่จะมาถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างครบวงจร”

ที่สำคัญหลักสูตรของเรามีความเป็นสากล เพราะการเรียนการสอนเน้นการใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก และมีเชฟคนไทยสลับมาให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจทั้งสองฝ่ายในการสร้างบุคคลทั่วไปให้เป็นเชฟมืออาชีพ ตลอดจนการสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน เพราะโรงเรียนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสร้างสรรค์เมนูอาหาร และหลักสูตรยังส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถปรับใช้สูตรเมนูอาหารต่าง ๆ เพื่อสร้างเมนูใหม่เฉพาะตัว มีเอกลักษณ์ทั้งในด้านการประกอบอาหารและสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดจนกลายเป็นธุรกิจต่อไป

“สุขวัฒน์” กล่าวต่อว่า เราพร้อมสร้างเชฟมืออาชีพสู่ตลาดในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าผลิตผู้ที่มาเรียนที่นี่เป็นเชฟประมาณ 200-400 คน/ปี รวมถึงเรื่องเมนูที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาพร้อมการปรับปรุงหลักสูตรตลอด เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนทั้งยังเร่งผลักดันให้ผู้ที่รักในการทำอาหาร หรือผู้สนใจด้านธุรกิจอาหาร

เพราะบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจอาหารชั้นนำของประเทศไทย โดยวางเงื่อนไขในการควบคุมดูแลกิจการร่วมกันในสัดส่วน 90% เป็นการถือหุ้นของผู้ประกอบธุรกิจอาหาร ขณะที่ซีพีเอฟจะถือหุ้นในส่วนของกิจการประมาณ 10% ทั้งยังจะมีการช่วยเรื่องการชี้ช่องทางการตลาดต่าง ๆ ให้อีกด้วย

ดังนั้น การเปิดโรงเรียนศิลปะการอาหาร และผู้ประกอบการคูลิเนอร์ จึงเป็นอีกทางเลือกที่เหมาะแก่ผู้สนใจด้านอาหาร เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนรู้เกี่ยวกับผู้ประกอบการธุรกิจ อันจะเป็นส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจระบบการทำงานอย่างมืออาชีพ ทั้งยังช่วยสร้างคนธรรมดาให้กลายเป็นเจ้าของธุรกิจ สร้างรายได้ และสร้างคุณค่ากับชีวิต จนนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”