เชียงใหม่ 2018

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สกุณา ประยูรศุข

มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่อีกแล้ว ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของปี 2560 จะว่าไปก็เกือบปิดท้ายปีเลยทีเดียว ถือเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีนักษัตรใหม่ “ปีจอ” ก็แล้วกัน การไปเชียงใหม่คราวนี้เป็นธุระเรื่องงาน ที่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ จัดสัมมนา เรื่อง “เชียงใหม่ 2018 จุดเปลี่ยน…ประตูสู่โอกาส” งานมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2560 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา ถนนช้างคลาน กลางเมืองเชียงใหม่ ครั้งนี้ยังยึดหัวหาดที่เชียงใหม่เป็นพื้นที่จัดงานเช่นปีที่ผ่านมา

แม้จะผ่านไปปีเดียว เชียงใหม่ก็ยังเป็นเมืองสำคัญ เหตุผลคือ เชียงใหม่ยังคงเป็นเมืองเศรษฐกิจหลักของภาคเหนือ ที่ยังคงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเดินหน้าไปเรื่อย ๆ ปีที่ผ่านมาอาจไม่หวือหวานัก แต่ก็โตต่อเนื่อง นอกจากนี้แล้ว การขยายตัวของเมืองยังขยายออกไปทุกทิศทุกทาง จากตัวเมืองสู่อำเภอต่าง ๆ แม้ในบางธุรกิจอาจจะชะลอการเติบโต แต่ในบางธุรกิจก็กลับโตอย่างก้าวหน้า โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ

เชียงใหม่วันนี้ยังคงมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวจำนวนมาก ทั้งคนไทยเองและชาวต่างประเทศ ตัวเลขของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยระบุว่า มีจำนวนถึง 9.6 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 10 ล้านคนในไม่ช้า อีกทั้งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยุทธศักดิ์ สุภสร ยังบอกว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเที่ยวไทยในปี 2561 น่าจะเพิ่มเป็น 35-36 ล้านคน ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวเชียงใหม่ก็ต้องเพิ่มเป็นเงาตามตัว ซึ่งแน่นอนว่าสัดส่วนที่มากที่สุดครองแชมป์อยู่ตอนนี้คือ นักท่องเที่ยวชาวจีน ที่มีอยู่กว่า 1 ล้านคน คาดว่าแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ททท.เชียงใหม่ระบุว่าจะขึ้นไปอีกราว 29%

การเยือนเชียงใหม่ครั้งนี้ นอกจากได้เห็นสภาพของเมืองเชียงใหม่ในระยะ 1 ปีแล้ว ยังได้พบปะหารือกับ วิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ที่กาลเวลาไม่อาจทำให้ความสวยของเธอลดน้อยลง วิภาวัลย์ เล่าถึงความในใจที่ยังตงิด ๆ และยังสับสนวิตกกังวล ว่า เชียงใหม่ในอนาคตจะเป็นอย่างไรกันแน่ เธอว่าปัญหาใหญ่เป็นเรื่องโครงข่ายโลจิสติกส์ การคมนาคมขนส่ง ที่จนป่านนี้ยังไม่มีคำตอบชัดเจนจากรัฐบาล ทั้งที่ผลการศึกษาเสร็จสิ้นไปเรียบร้อย และนำเสนอผู้เกี่ยวข้องแล้ว แต่เรื่องก็ยังลูกผีลูกคน ไม่มีภาพชัดเจน ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ก็แออัดยัดเยียดเพิ่มมากขึ้นทุกที

วิภาวัลย์บอกว่า คนเชียงใหม่อยากให้โครงการขนส่งสาธารณะเกิดขึ้นโดยเร็ว ไม่ว่าโครงการรถไฟฟ้าทั้งบนดิน-ใต้ดิน บีอาร์ที การเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนชาวเชียงใหม่ที่ผ่านมาก็เห็นด้วยเกิน 100% แต่ก็ยังไร้วี่แววจากรัฐบาล “ขอแค่ไม่เกิน 10 กิโลเมตร หรือภายในเขตผังเมืองรวมจังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 400 ตารางกิโลเมตร รัศมีไม่เกินถนนวงแหวนรอบที่ 2 ของเชียงใหม่ ตั้งแต่เขต อ.เมือง, สารภี, แม่ริม, ดอยสะเก็ด และสันกำแพง ที่สำคัญสนามบินแห่งที่สองต้องเคาะได้แล้วว่าจะอยู่ที่ไหนกันแน่

ฟังเธอสาธยายแล้ว เข้าใจถ่องแท้ถึงความกังวลที่มีจริง ๆ งานนี้หากจะหาคำตอบจากปากรัฐบาล คาดว่างานสัมมนาประชาชาติฯ “เชียงใหม่ 2018 จุดเปลี่ยน…ประตูสู่โอกาส” ที่จัดขึ้นอาจจะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง คำตอบอาจจะไม่ได้อยู่ในสายลมอย่างที่ บ๊อบ ดีแลน ว่า “The answer my friend, is blowing in the wind..” มันต้องมีคำตอบให้เห็นและเป็นทิศทางจับต้องได้แน่นอน

ตบท้ายด้วยเรื่องขำ ๆ ที่เพื่อนชาวเชียงใหม่เล่าให้ฟัง เธอว่าเดี๋ยวนี้คนรู้กันทั้งโลกว่าเชียงใหม่พัฒนาอย่างมาก เนื่องมาจากรถแดงสองแถวที่วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสาร ใช้เทคโนโลยีช่วยบริการแล้ว คือสามารถจ่ายเงินค่าโดยสารผ่าน QR โค้ด ไม่ต้องใช้เงินสด “บริการนี้นักท่องเที่ยวชาวจีนชอบใจมาก เมื่อจ่ายเงินเสร็จ (ผ่านคิวอาร์โค้ด) ถึงกับตะโกนขึ้นมาว่า “เชียงใหม่พัฒนาแล้วโว้ย ๆๆๆ…”

โลกเปลี่ยน เชียงใหม่เปลี่ยน จริง ๆ