อนาคตหุ้นจีน กับมรสุมที่ยังไม่จบ

อนาคตประเทศจีนจะเป็นอย่างไร เมื่อมรสุมยังไม่จบ กับ “ชยานนท์ รักกาญจนันท์” ประธานเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาและผู้ร่วมก่อตั้ง บลน.ฟินโนมีนา จำกัด

วันที่ 29 สิงหาคม 2565 เมื่อมรสุมลูกใหญ่ยังไม่พัดผ่านพ้นประเทศจีน ทำให้จีนยังคงเผชิญกับปัจจัยลบมากมายไม่รู้จบ แล้วอนาคตของจีนจะเป็นอย่างไร และนักลงทุนควรรับมืออย่างไร

สัปดาห์นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ  “ชยานนท์ รักกาญจนันท์” ประธานเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท หลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนฟินโนมีนา จำกัด มานำเสนอ

Q : หลังจากช่วงมิถุนายนที่ผลผลแทนกองทุนหุ้นจีนรีบาวนด์ขึ้นไปถึง 8% ค่อนข้างสูงเลยปีนี้ แต่ตอนนี้กลับลงมาติดลบอีกครั้ง ตอนนี้จีนเรามองยังไงบ้าง

ประเด็นกดดันที่ทำให้ตอนนี้ตลาดหุ้นจีนยังอาจจะไม่ได้มีจุดกลับตัวในระยะสั้น อย่างแรกเลยคือจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศของเขาทะลุเกิน 2,000 รายขึ้นมา แต่ที่เดชะบุญก็คือผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นมาไม่ได้อยู่ในเขตเมืองที่เป็นเขตเศรษฐกิจ อย่างเช่น เซียงไฮ้ หรือเสิ่นเจิ้น ก็เลยทำให้มาตรการในการล็อกดาวน์ ตลาดก็ยังคาดว่ายังอาจจะอยู่ในวงจำกัด

Advertisment

และถึงแม้จะมีการล็อกดาวน์ก็อาจจะไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจจีนมากนัก แต่มันก็ยังเป็นบรรยากาศ (Sentiment) ที่ทำให้เห็นว่ามาตรการที่เรียกว่า fast track ก็คือว่าพยายามที่จะ track เจอให้เร็วว่าใครติดเชื้อ ที่นโยบายของจีนคือวิธีตั้งสถานีตรวจให้อยู่ในรัศมีที่ประชาชนจีนสามารถไปถึงและตรวจได้ภายในระยะเวลา 5 นาที มาตรการแค่พยายามที่จะ track เรื่องนี้อาจจะไม่เพียงพอ

ดังนั้น เรื่องนี้จะยังกดดันจีนจนกว่าที่มาตรการ Zero Covid จะหายไป ซึ่งไม่ง่าย  เพราะว่าการจะหายไปได้ แปลว่าประชาชนจีนต้องฉีดวัคซีนแบบไทป์ที่เรียกว่า MRNA ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็คือหลังจากที่เราทราบข่าวตั้งแต่ต้นปีว่าจีนมีพัฒนาตัว MRNA ร่วมกับบริษัท ไบโอเอ็นเทคก็จริง แต่ถึงตอนนี้ก็เงียบมาตลอด เราก็ไม่เห็นข่าวพัฒนาว่าเมื่อไหร่เขาจะฉีดสักที เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยระยะเวลาต้องรอดู อันนี้คือปัจจัยที่หนึ่ง

ปัจจัยที่สองก็คือ ที่มันยังกดดันตลาดหุ้นจีนอยู่ ก็คือว่าเรายังเห็นมาตรการคุมเข้มจากทางฝั่งภาครัฐในการที่เรียกว่าเข้าไปกำกับดูแลบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยี ยังมีอยู่ต่อเนื่อง อย่างช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เราก็ยังเห็นสัญญาณว่าทางฝั่งอเมริกาเองก็มีการอัพเดตตัวแบล็กลิสต์บริษัทที่อาจจะต้องถอดตัวเองออกจากดัชนี  Nasdaq คือต้องย้ายกลับมาเทรดที่จีนก็มีบางตัวแล้ว หลาย ๆ ตัว

และก็ยังมีข่าว อย่างเช่นมีข่าวลือออกมาที่ tencent มีข่าวลือว่าจะขายหุ้น meituan เนื่องจากว่าจะลดแรงกดดันจากทางฝั่งภาครัฐ ตอนที่มีแรงกดดันเรื่องนี้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีก็ร่วงทันที แต่พออีกวันหนึ่งข่าวออกมาบอกว่ายังไม่ได้ขาย เป็นแค่ข่าวลือ ก็คืออยู่ในแผนแต่ยังไม่ได้ทำอะไร แต่ก็จะเห็นว่าราคาของหุ้นกลุ่มนี้ก็ยังไม่ฟื้นขึ้น

Advertisment

ซึ่งบวกกับอย่างที่สามก็คือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 โดยเฉพาะที่เป็นหุ้นกลุ่มหุ้นเติบโต (Growth)  ทั้งหุ้น SoftTech และก็หุ้นที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ หุ้นที่เกี่ยวข้องกับ EV หรือรถไฟฟ้าในจีน อย่างล่าสุดก็มีการประกาศตัวงบออกมาในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่ารายได้ต่ำกว่าที่ตลาดคาด

มันก็เลยเป็นสาเหตุให้ 3-4 ปัจจัยที่บอกมาทั้งหมดมันยังทำให้จีนยังไม่เห็นทิศทางว่าเศรษฐกิจจะฟื้นได้อย่างไร หรือบรรยากาศ (Sentiment) ของตลาดมันจะกลับมาทำให้นักลงทุนมั่นใจที่จะกลับมาซื้อจริง ๆ จัง ๆ ได้หรือเปล่า เรายังจำเป็นต้องรอเวลาอยู่

Q : จำนวนผู้ติดเชื้อของเขาเพิ่มขึ้น อันนี้มันมีโอกาสที่จะทำให้เขาต้องกลับไปปิดประเทศ ปิดเมืองเหมือนครั้งก่อนไหม

ผมคิดว่ามีโอกาส แต่อย่างที่เมื่อกี้บอกไปว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรอบนี้ เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้อยู่ในเขตเศรษฐกิจหลัก ตลาดเลยคิดว่าผลกระทบหรือเอฟเฟ็กต์ต่อระบบเศรษฐกิจมันน่าจะอยู่ในวงจำกัด ไม่เหมือนกับตอนที่ปิดในไตรมาส 2 แต่ว่าเรื่องนี้ผมว่าไม่ได้ทำให้ตลาดลงหนัก แต่มันเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดขึ้นลำบาก

 

Q : ช่วงนี้ที่มันมีประเด็นเรื่องอสังหาริมทรัพย์ในจีน ประเด็นนี้มันน่ากังวลแค่ไหน

มันน่ากังวลตรงที่ผลกระทบ คือธุรกิจอสังหาฯ ในจีนคิดเป็นประมาณ 20% ของ GDP ฉะนั้นถ้ามันล้มไปก็จะมีโอกาสเยอะ ดังนั้น พอมันมีผลกระทบตรงนี้ ผมคิดว่าจีนรู้อยู่แล้วว่าถ้าปล่อยให้ล้ม อาจจะกลายเป็นโดมิโนเหมือนตอนต้มยำกุ้งที่ไทยเจอ หรือเหมือนตอนซับไพรม์ที่อเมริกาเจอ ถามว่ากระทบอะไรในแง่ระยะยาวคือ GDP ของจีนมีโอกาสโตต่ำเป้า 5.5% มีโอกาสไม่ถึงใน 2-3 ปีข้างหน้า อย่างประเด็นเรื่องอสังหาฯ นี้

พอพูดมาถึงตอนนี้ผมกลัวนักลงทุนจะถอดใจว่าอย่างนี้ฉันต้องขายจีนทิ้งเลยหรือเปล่า มุมที่ดีก็คือว่าจีนขาของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้น ล่าสุดข้อมูลจาก: bloomberg เขามีการประมาณการโอกาสในการเกิดเศรษฐกิจถดถอย (recession) จีนมีโอกาสในการเกิดเศรษฐกิจถดถอยตอนนี้อยู่ที่ประมาณแค่ 10% เท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นตอนนี้โอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยใน 1 ปีข้างหน้า 25% เอาไปเปรียบเทียบกับอเมริกาโอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยใน 1 ปีข้างหน้าตอนนี้ 40%

ดังนั้น ถ้าเทียบแบบนี้จะเห็นภาพว่าจีนและไทยโอกาสในการเกิดเศรษฐกิจถดถอยต่ำกว่า ถามว่าทำไมโอกาสในการเกิดเศรษฐกิจถดถอยต่ำกว่า ถึงแม้ GDP จีนจะต่ำกว่าเป้า เป้าเขาคือ 5.5% ตอนนี้โตได้ประมาณ 3.8% แต่ 3.8% เทียบกับเขตเศรษฐกิจที่อยู่ในกลุ่ม G7 ด้วยกันเองทั้งหมด จีนก็ยังโตดีกว่าอเมริกา ก็ยังโตดีกว่ายุโรป

และจีนมีโอกาสอีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า เขายังไม่เจอปัญหาเรื่องเงินเฟ้อกดดันอย่างที่อเมริกาเจอเงินเฟ้อไป 8-9% อังกฤษเจอเงินเฟ้อ 10% 2 ประเทศนี้ทั้งอเมริกา แคนาดา ยุโรป อังกฤษ จำเป็นต้องไล่ขึ้นดอกเบี้ยเร็ว ๆ เพื่อสู้กับเงินเฟ้อ จีนไม่เจอเรื่องนี้

ดังนั้น คนที่ถือจีนตอนนี้มีลุ้นคือ แต่ว่ามันก็เหลือลุ้นอยู่แค่อย่างเดียว ก็คือลุ้นว่ามาตรการของทางฝั่งภาครัฐจะกลับมาอัดฉีดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเราเริ่มพอจะเห็นแล้วบ้าง อย่างเช่นการลดดอกเบี้ยตัว MLF ลงมา การอัดฉีดสภาพคล่องลงเข้าไปบางส่วน ระดับประมาณ 1-3 แสนล้านหยวน เริ่มเห็นบ้าง ซึ่งสิ่งนี้มันจะทำให้ downside ค่อนข้างจำกัด แต่ส่วน upside จะมีหรือเปล่า สุดท้ายมันก็ขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจจีนได้รับแรงกระตุ้นไปแล้ว และเศรษฐกิจฟื้นหรือเปล่า

Q : สำหรับนักลงทุนที่อาจจะสนใจอยากจะซื้อหุ้นจีน ช่วงที่มันปรับฐานลงแบบนี้ เรามองเป็นโอกาสในการเข้าไปซื้อไหม

ถ้ามองเป็นกรอบเวลา (time frame) บอกว่าขอซื้อจีนแบบลงทุนได้พอจะยาว ๆ หน่อย ตอนนี้ที่ฟินโนมีน่าเราแนะนำก็คือ จีนอีวี  ตอนนี้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจีนโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ยอดขายโตระดับ Double กันทุกที่

ดังนั้น สำหรับผมก็คือว่า ถ้าใครที่ชอบธีมอีวี ซึ่งมันเป็นธีมที่อยู่ในมาตรการ Made in China 2025 คือเป็นหนึ่งในเซ็กเตอร์ที่รัฐบาลจีนอุดหนุน ใครลงทุนในจีนช่วงนี้ผมคิดว่าก็ลองดูธีมที่เป็น

China EV อันนี้น่าสนใจ ส่วนถ้าเป็นธีม China Mainland เศรษฐกิจจะฟื้นไหม อันนี้ผมคิดว่าจำเป็นต้องรอตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 3 กว่าจะมา ส่วนใครที่ลงทุนในจีนที่เป็น SoftTech อย่าง Alibaba, tencent,  meituan, Pinduoduo ผมคิดว่าต้องรอเวลาเลย growth engine หรือ growth story ของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในจีนมันหายไป

เพราะฉะนั้น อาจจะมีรีบาวนด์ได้บ้าง แต่โอกาสยาว ๆ แล้วเราอาจจะต้องรอวัฏจักรรอบหน้าที่บรรยากาศของการต่อสู้กันทางด้านการค้านั้นเบาบางลง