ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังโพลเผย รีพับลิกันจะครองเสียงข้างมากสภาล่าง

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังโพลเผย พรรครีพับลิกันจะครองเสียงข้างมากสภาล่าง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันพุ่งขึ้นจากการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าภาคธุรกิจลดความเชื่อมั่นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (09/11) ที่ระดับ 36.88/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (08.11) ที่ระดับ 37.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) แถลงในวันนี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมปรับตัวลง 0.8 จุด สู่ระดับ 91.3 ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค.

ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ขณะที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นจากการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน นอกจากนี้ ผลสำรวจพบว่าภาคธุรกิจลดความเชื่อมั่นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ นักลงทุนยังปรับลดการถือครองดอลลาร์สหรัฐ หลังผลสำรวจของโพลส่วนใหญ่พบว่า พรรครีพับลิกันจะสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐหลังการเลือกตั้งกลางเทอม จากปัจจุบันที่พรรคเดโมแครตมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งอยู่เล็กน้อย ส่วนการเลือกตั้งในวุฒิสภาจะเป็นไปอย่างสูสีระหว่างพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน

ซึ่งก่อนการเลือกตั้งทั้งสองพรรคมีคะแนนเสียงเท่ากันอยู่ที่ 50-50 โดยคะแนนเลือกตั้งใน 4 รัฐ ได้แก่ แอริโซนา จอร์เจีย เนวาดา และเพนซิลเวเนีย จะชี้ขาดว่าพรรคใดจะได้ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา หากพรรครีพับลิกันคว้าชัยชนะเหนือพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้ ก็จะทำให้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในช่วงที่เหลืออีก 2 ปีเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยคาดว่าพรรครีพับลิกันจะขัดขวางการผ่านกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ต.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 93.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 91.8 ในเดือน ก.ย. โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ทั้งนี้ องค์ประกอบดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการ ทั้งนี้ ดัชนีคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

Advertisment

สำหรับปัจจัยสนับสนุน มาจากการที่ภาครัฐประกาศยกเลิกโรคโควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรง เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังภายหลังสถานการณ์ระบาดทั่วโลกคลี่คลายลง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศและภาคการท่องเที่ยว

ด้านการส่งออกประเทศคู่ค้าเริ่มสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า เพื่อส่งมอบในช่วงปลายปี สะท้อนจากดัชนีคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนปรับตัวดีขึ้น จากมาตรการดูแลพลังงานของภาครัฐ รวมถึงปัญหาขาดแคลนชิปเริ่มคลี่คลายลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.68-36.96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.83/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (09.11) ที่ระดับ 1.0066/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (08.11) ที่ระดับ 1.0000/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ งานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมนีเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้นมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูงจะชะลอตัวลง รวมถึงมีปัญหาคอขวดด้านการขนส่งก็ตาม

รายงานระบุว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือน ก.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% ในทางตรงกันข้าม ผลผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูงลดลง 0.9% ในเดือน ก.ย. สำหรับเดือน ส.ค. สำนักงานสถิติเยอรนีได้ปรับตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นลดลง 1.2% จากเดิมที่ระบุว่าลดลง 0.8% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0054-1.0088 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0060/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

Advertisment

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดดตลาดเช้าวันนี้ (09.11) ที่ระดับ 145.60/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (08.11) ที่ระดับ 146.24/826 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์หรัฐ นอกจากนี้ ค่าเงินเยนยังได้รับแรงสนับสนุน หลังรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากประชาชนเพลิดเพลินกับการใช้จ่ายในช่วงฤดูร้อนแรกที่ไร้มาตรการควบคุมโควิด-19 นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 145.21-145.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 145.75/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (10/11), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ต.ค. (10/11), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน พ.ย. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (11/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.5/-8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -13.4/-11.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ