ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ บ่งชี้เงินเฟ้อชะลอตัว

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ บ่งชี้เงินเฟ้อชะลอตัว และอาจผ่านจุดสูงสุดแล้ว ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนค่าเงินบาททิศทางยังแข็งค่า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 10 มกราคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/1) ที่ระดับ 33.44/45 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (9/1) ที่ระดับ 33.51/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์ก โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.85% แตะที่ระดับ 103.00 หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรและดัชนีภาคบริการ ซึ่งบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอาจผ่านจุดสูงสุดแล้ว ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

อีกทั้งนักลงทุนยังคงติดตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนธันวาคมที่จะเปิดเผยในวันพฤหัสบดีนี้ (12/1) โดยผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานจะปรับตัวขึ้น 6.6% ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 7.1% ในเดือนพฤศจิกายน ขณะเมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี CPI ทั่วไปจะคงที่จากระดับเดิมในเดือนธันวาคม หรือ +0.0% จากระดับ 0.1% ในเดือนพฤศจิกายน

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าจะปรับตัวขึ้น 5.7% ในเดือนธันวาคม เมื่อทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 6.0% ในเดือนพฤศจิกายน ขณะเมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐานจะปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนธันวาคม จากระดับ 0.2% ในเดือนพฤศจิกายน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดภาวะการส่งออกในเดือนธันวาคม 2565 ยังหดตัวต่อเนื่องที่ระดับ 7.5% ส่งผลให้การส่งออกในปี 2565 จะขยายตัวอยู่ที่ 6.3% ภายใต้กรอบ 6.0-6.5%

โดยภาคการส่งออกมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนรุนแรงแบบไม่มีทิศทางที่ชัดเจน สถานการณ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ดัชนีภาคการผลิต PMI ในตลาดส่งออกของประเทศสำคัญเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง และความผันผวนของราคาพลังงาน

ด้านนายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่า การส่งออกไทยปี 2566 มีโอกาสเติบโตได้เพียง 1% ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2563 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.28-33.55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.53/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (10/1) ที่ระดับ 1.0726/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (9/1) ที่ระดับ 1.0666/70 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังสถาบันวิจัย Sentix ของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -17.5 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -18.0 และดีขึ้นจากระดับ -21.0 ในเดือนธันวาคม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0719-1.0744 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0740/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/1) ที่ระดับ 132.10/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (9/1) ที่ระดับ 132.41/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าหลังค่าเงินดอลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลง หลังนักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ระห่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 131.37-132.29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 131.93/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งประจำเดือนพฤศจิกายนของสหรัฐ (10/1), ยอดค้าปลีกประจำเดือนพฤศจิกายน ของออสเตรเลีย (11/1), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (11/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10/-9.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -15/-12.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ