“ธนาคารไร้สาขา“ ธปท.คลอดแนวทางจัดตั้ง พรุ่งนี้ (12 ม.ค.)

ธนาคารไร้สาขา

ธปท.คลอดแนวทางจัดตั้ง “แบงก์ไร้สาขา” ผู้ประกอบธุรกิจการเงิน “แบงก์ดั้งเดิม-น็อนแบงก์” รุมสนใจเพียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 12 ม.ค.นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะจัด media briefing เรื่อง แนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (virtual bank) โดยมีนายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน และนางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน เป็นผู้ให้ข้อมูล

ทั้งนี้ ธปท.เตรียมออกหลักเกณฑ์ virtual bank เพื่อเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้ามาให้บริการทางการเงินนอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์รูปแบบดั้งเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเกณฑ์ดังกล่าวจะออกมาภายในเดือน ม.ค.นี้

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ระบุก่อนหน้านี้ว่า ธปท.ต้องการให้ผู้เล่นรายใหม่ที่เป็น virtual bank เข้ามาช่วยตอบโจทย์กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (underserved) และกลุ่มที่บริการการเงินแบบ physical finance ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธปท. กล่าวว่า หลังจากออกเกณฑ์ virtual bank มาแล้ว ต่อจากนั้นจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น ก่อนจะนำไปสู่การให้ใบอนุญาตต่อไป ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าระยะเวลาจะเป็นเมื่อใด ต้องขึ้นกับการพิจารณา

ล่าสุด ธนาคารกรุงไทย (KTB) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ AIS เพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ให้บริการ virtual bank

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ความร่วมมือดังกล่าว ถือเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าทั้งกลุ่มลูกค้าเดิม ๆ และลูกค้าใหม่มากขึ้น ซึ่ง virtual bank ไม่ใช่ธุรกิจรูปแบบใหม่ แต่ทำมาแล้วในยุโรป สิงคโปร์ ฮ่องกง และจีน หรือเรียกว่า open finance

“การร่วมทุนดังกล่าว จะเป็นการขยายฐานธุรกิจทั้งของฝั่งกรุงไทยและฝั่งเอไอเอส เป็นการต่อยอดให้กับธุรกิจ แต่ขั้นตอนหรือแผนงานที่ชัดเจนจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่นั้น ยังไม่สามารถระบุได้ เพราะอยู่ระหว่างรอกฎเกณฑ์จาก ธปท.”

นอกจากนี้ ก็ยังมีบริษัทหลักทรัพย์ เคเคพี ไดม์ (KKP Dime) ที่แสดงความสนใจ virtual bank โดยนายกัมพล จันทวิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่า สนใจ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ของ ธปท.ด้วย หากกำหนดเงินกองทุนสูงเทียบเท่าธนาคาร ก็อาจจะไม่ทำ

รวมถึงบริษัท Sea (ประเทศไทย) ในเครือ SEA GROUP ธุรกิจสัญชาติสิงคโปร์ เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “ช้อปปี้” และบริษัท การีน่า ผู้ให้บริการเกมออนไลน์รายใหญ่ ก็แสดงความสนใจ virtual bank ในประเทศไทยเช่นกัน