ประยุทธ์ ประชุม คนร. กำชับ รัฐวิสาหกิจเร่งแก้ปัญหาองค์กรให้เห็นรูปธรรม

พล.อ.ประยุทธ์
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ที่ประชุม คนร. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน กำชับ 6 รัฐวิสาหกิจเร่งแก้ปัญหาองค์กรให้เป็นไปตามแผน-เห็นผลเป็นรูปธรรม รวมถึงเร่งคลอดแผนปฏิบัติการตามแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ 5 ปีข้างหน้า

วันที่ 26 มกราคม 2566 นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่ง คนร. กำชับเรื่องการดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง ได้แก่

การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยให้รัฐวิสาหกิจเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรให้เป็นไปตามแผน และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ให้มีการกำหนดเป้าหมาย/มาตรการดำเนินงานในระยะต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว เพื่อให้มีการติดตามและปรับปรุงแก้ไขได้ทันต่อสถานการณ์ รวมถึงเน้นการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ พร้อมทั้งกำชับให้กระทรวงเจ้าสังกัดกำกับดูแลและรายงานความคืบหน้าต่อ คนร. อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันได้กำชับให้มีการติดตามการดำเนินการตามแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566-2570 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งกระทรวงเจ้าสังกัด และรัฐวิสาหกิจต้องจัดทำแผนวิสาหกิจระยะ 5 ปี และแผนปฏิบัติการประจำปี เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาดังกล่าว ให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติต่อไป

คนร. กำชับให้จัดทำแผนดังกล่าวให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเจ้าสังกัด คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ฝ่ายบริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจร่วมกันกำหนดเป้าหมาย ในการพัฒนา และขับเคลื่อน อาทิ

“การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป การเพิ่มรายได้ การปรับปรุงภาพลักษณ์ การลดต้นทุน การลงทุนและพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด การร่วมมือกันระหว่างรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น เพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีความมั่นคง เข้มแข็ง และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ”

นอกจากนี้ คนร. ยังได้รับทราบผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ประจำปีบัญชี 2564 ตามระบบประเมินผล จำนวน 52 แห่ง โดยในภาพรวมรัฐวิสาหกิจมีผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการองค์กรดีขึ้น โดย คนร.

มีข้อสังเกตให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำปัจจัยต่าง ๆ ไปพิจารณาจัดทำแผนงานและจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงกำหนดตัวชี้วัดให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น อาทิ ผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การพัฒนา

ระบบฐานข้อมูล การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ BCG Model รวมถึงการร่วมมือกันระหว่างรัฐวิสาหกิจ โดยให้มีการกำกับติดตามการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถกำหนดมาตรการสนับสนุน

แก้ไข หรือแนวทางการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที และส่งผลให้การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศต่อไป