โรงงานยาสูบฮึดสู้บุหรี่นอก ส่ง “WonderS” ราคาถูกชน

โรงงานยาสูบ แก้เกมบุหรี่นอกแย่งตลาดล่าง ลอนช์ยี่ห้อใหม่สู้ ขาย 60 บาท/ซอง ดีเดย์ 17 ก.พ.นี้ แจงกระทบหนัก เดือน ม.ค.ไม่มีเงินส่งรายได้เข้ารัฐ ลุ้นร่างกฎหมายใหม่ได้รับไฟเขียวยกชั้นเป็นการยาสูบแห่งประเทศไทย เปิดทางส่งออกบุหรี่ตีตลาดต่างประเทศ-ทำบุหรี่ไฟฟ้า

แหล่งข่าวจากวงการยาสูบเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ตัวแทนจำหน่าย (เอเย่นต์) ของโรงงานยาสูบได้รับแจ้งว่า โรงงานยาสูบได้ผลิตบุหรี่แบรนด์ใหม่ “Wonder S” ราคาขายซองละ 60 บาท เพื่อแข่งขันแย่งส่วนแบ่งตลาดกลับคืนจากบุหรี่ต่างประเทศ ที่ก่อนหน้านี้ได้ลดราคาบุหรี่ลง อาทิ “L&M (แดง) 7.1”, “L&M (เขียว) 7.1”, “วินสตันคอมแพค เรด”, “วินสตันคอมแพค กรีน”, “คาเมล ฟิลเตอร์” เป็นต้น ตั้งราคาขาย 60 บาท/ซอง จนทำให้มาร์เก็ตแชร์ของโรงงานยาสูบหายไปมาก

ทั้งนี้ การกำหนดราคาขายที่ 60 บาท/ซอง จะทำให้ภาระภาษีของโรงงานยาสูบลดลง เนื่องจากจะเสียภาษีที่ 20% ขณะที่บุหรี่ Wonder แดง กับ Wonder เขียว ที่ขาย 90 บาท/ซอง ต้องเสียภาษี 40% ตามโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบ ที่แบ่งการจัดเก็บภาษีออกเป็น 2 ขั้น (เทียร์)

“บุหรี่ตัวใหม่นี้มีการแจ้งว่า จะนำมาขายแทนบุหรี่แบรนด์ Wonder ตัวเก่า คือ Wonder แดง กับ Wonder เขียว ที่ก่อนบังคับใช้โครงสร้างภาษีใหม่ 16 ก.ย. 2560 เคยขายที่ 63 บาท/ซอง เมื่อภาษีใหม่บังคับใช้ โรงงานยาสูบเคยลดราคาลงเหลือ 60 บาท/ซอง แต่ไม่นานก็ขยับราคาขึ้นไปขาย 90 บาท/ซอง ครั้งนี้ จึงเป็นการออกแบรนด์ใหม่ ไม่ใช่ลดราคาแบรนด์เก่าลง”

แหล่งข่าวกล่าวว่า เอเย่นต์ได้รับแจ้งว่า จะเริ่มจัดจำหน่ายบุหรี่ยี่ห้อใหม่ตั้งแต่ 17 ก.พ. 2561 เป็นต้นไป ราคาขายส่ง 556 บาท/กล่อง (คอตตอน) ขายปลีก 562 บาท/กล่อง (คอตตอน)

ขณะที่นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการยาสูบ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องภาษียาสูบ ต้องรอให้กรมสรรพสามิตเป็นผู้ตอบว่าจะดำเนินการอย่างไร โรงงานยาสูบไม่สามารถทำอะไรได้ และ ปัจจุบันยังคงได้รับผลกระทบจากโครงสร้างภาษีใหม่ จนไม่สามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐได้ ซึ่งตามปกติแล้วจะนำส่งรายได้ปีละ 2 ครั้ง คือเดือน ม.ค.และ ก.ค.

ส่วนแผนการออกโปรดักต์ใหม่ นางสาวดาวน้อยกล่าวว่า ยังไม่มีการปรับปรุง หรือออกโปรดักต์ใหม่ในช่วงที่ผ่านมา

ด้านแหล่งข่าวจากโรงงานยาสูบเปิดเผยว่า คณะกรรมการยาสูบได้เห็นชอบให้ออกโปรดักต์ใหม่สู้กับบุหรี่ต่างประเทศที่ลด ราคาลงมาขายที่ 60 บาท/ซอง แต่อาจไม่ได้ช่วยให้โรงงานยาสูบแข่งขันได้เพิ่มมากขึ้น เพราะแบรนด์สู้บุหรี่ต่างประเทศไม่ได้

“การแก้ปัญหาต้องแก้กฎกระทรวง ที่กำหนดอัตราภาษีอย่างเดียว วิธีอื่นไม่ได้ช่วยอะไรมาก แต่โรงงานยาสูบต้องดิ้นรนไม่ให้เสียส่วนแบ่งการตลาดมากกว่านี้”

ระหว่างนี้คงต้องรอให้ร่าง พ.ร.บ.การยาสูบแห่งประเทศไทย ที่จะยกระดับโรงงานยาสูบให้เป็น “นิติบุคคล” ผ่านออกมาบังคับใช้ก่อน จึงสามารถดำเนินการทางธุรกิจได้สะดวกมากขึ้น จากปัจจุบันต้องรอนโยบายจากกรมสรรพสามิตและกระทรวงการคลังเป็นหลัก

“อย่างการขยายตลาดไปต่างประเทศ ปัจจุบันจะทำก็ลำบาก เพราะต้องรอนโยบาย ทั้งที่จีนก็สนใจร่วมลงทุน นอกจากนี้การออกโปรดักต์ใหม่ ๆ จะสะดวกขึ้นด้วย อย่างเช่น บุหรี่ไฟฟ้า เพราะต่างประเทศไปทางนี้แล้ว หรือการผลิตก้นกรอง หรือพิมพ์ซอง จะสามารถทำได้เอง จากปัจจุบันต้องจัดจ้างทั้งหมด”

นอกจากนี้ปัจจุบันการแข่งขันระหว่างโรงงานยาสูบกับบุหรี่ต่างประเทศก็ไม่ได้เท่า เทียมกัน เนื่องจากโรงงานยาสูบต้องเสียภาษีเงินได้แทนผู้ประกอบการค้า ซึ่งต้องแก้ไขกฎหมาย หรืออาจกำหนดให้บริษัทบุหรี่ต่างประเทศเสียภาษีเงินได้แทนผู้ประกอบการค้า ด้วย

ทั้งนี้ ประเมินว่า ผลกระทบจากโครงสร้างภาษีปัจจุบัน ปีงบฯ 2561 โรงงานยาสูบอาจขาดทุน 1,575 ล้านบาท ไม่มีเงินนำส่งรัฐ จากปกติต้องนำส่ง 88% ของกำไรสุทธิทุกปี ล่าสุด ปีงบฯ 2560 มีกำไรสุทธิ 9,344.37 ล้านบาท นำส่งรายได้ 8,816.56 ล้านบาท

ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ช่วง 4 เดือนแรกปีงบฯ 2561 (ต.ค. 60-ม.ค. 61) รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้เข้ารัฐแล้ว 50,646 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 12,994 ล้านบาท หรือคิดเป็น 35% แต่ในส่วนโรงงานยาสูบยังไม่ส่งรายได้เข้าคลัง

ก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมสรรพสามิต เคยระบุว่า ในส่วนภาษียาสูบหลังกฎหมายเริ่มใช้ ในเดือนแรกยอดภาษีตกลงแต่ถึงสิ้นเดือน ม.ค.เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นการเก็บภาษีถือว่าเข้าที่ สะท้อนจากผลการจัดเก็บรายได้ 4 เดือนเก็บภาษียาสูบได้เกินเป้าหมาย 500 ล้านบาท