ธุรกิจประกันชีวิตโต 5.89% ทั้งระบบปั๊มเบี้ยรับกว่า 6.01 แสนล้าน คาดปี’61ขยายตัว 4-6%

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจประกันชีวิตไทยในปี 2560 ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ในไทย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัว มูลค่าการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การลงทุนของภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ ส่งผลให้ธุรกิจประกันชีวิต (ม.ค.-ธ.ค.60) มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งสิ้น 601,724.69 ล้านบาท เติบโต 5.89% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน มาจากเบี้ยประกันชีวิตปีต่อไป 433,900.13 ล้านบาท และเบี้ยประกันชีวิตรายใหม่อีก 167,824.56 ล้านบาท โดยมีอัตราการคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิต 84% คิดเป็นสัดส่วนเบี้ยประกันชีวิตต่อจีดีพี (Insurance Penetration Rate) ที่ 3.89% และคิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงต่อประชากร (Insurance Density) จำนวนกว่า 9,091 บาท/คน เติบโตขึ้น 5.48%

โดยในส่วนของช่องทางการจำหน่ายช่องทางตัวแทนประกันชีวิต (Agency) ยังคงเป็นช่องทางหลักและช่องทางสำคัญในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต โดยมีสัดส่วนการจำหน่ายผ่านช่องทางนี้ด้วยเบี้ยประกันชีวิตรับรวมจำนวน 296,046.92 ล้านบาท เติบโต 3.08% หรือคิดเป็นสัดส่วนที่ 49.20% ของเบี้บรับรวมทั้งอุตสาหกรรมฯ ในขณะที่ช่องทางการจำหน่ายผ่านธนาคาร (Bancassurance) สัดส่วนการจำหน่ายอยู่ที่ 44.90% มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 270,183.40 ล้านบาท เติบโต 9.17% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และช่องทางการจำหน่ายผ่านการตลาดแบบตรง (Direct Marketing) มีสัดส่วนอยู่ที่ 2.45% เบี้ยประกันชีวิตรับรวม 14,752.34 ล้านบาท เติบโตลดลง 0.78% และช่องทางการจำหน่ายอื่นอีก 3.45% มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 20,743.37 ล้านบาท เติบโต 11.03%

ส่วนแนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตในปีนี้ (2561) สมาคมฯ คาดว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณ 4-6% โดยมีปัจจัยส่งเสริมจากเศรษฐกิจของประเทศที่จะขยายตัวดีขึ้นประมาณ 3.6-4.6% จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัว และแรงขับเคลื่อนภายในประเทศจากภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนของภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการบริโภคของภาคเอกชนทำให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียนดีขึ้นส่งผลให้มีการกระจายรายได้ ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินตลอดจนการบริหารความเสี่ยงของอนาคต รวมถึงมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐโดยกรมสรรพากรได้ให้สิทธิผู้เอาประกันภัยสามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำนวน 15,000 บาท ซึ่งเมื่อนำมารวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดที่ 100,000 บาท นับว่าเป็นแรงจูงใจที่สำคัญประการหนึ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

“ทั้งนี้ ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับรวมจากประกันสุขภาพระหว่าง (ม.ค.-ก.ย.60) อยู่ที่ 46,337.49 ล้านบาท เติบโตที่ 7.42% โดยในปี 2561 นี้คาดว่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 10%”

นางนุสรา กล่าวเพิ่มเติมถึงทิศทางธุรกิจประกันชีวิตในปี 2561 ว่า แต่ในปีนี้ภาคธุรกิจประกันชีวิตยังคงต้องจับตาดูผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อธุรกิจ เช่น มาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ (IFRS 9) ตารางมรณะ อัตราดอกเบี้ย และ Market Conduct เป็นต้น ซึ่งก็เชื่อว่าทางภาคธุรกิจประกันชีวิตจะมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อรองรับการวางแผนเกษียณอายุ อันเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ เช่น ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญหรือเงินได้ประจำ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพที่หลากหลาย ทั้งเหมาจ่าย ความคุ้มครองโรคร้ายแรงต่างๆ อันเนื่องมาจากค่ารักษาพยาบาลที่มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี

นอกจากนี้แล้วประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการลงทุนและการประกันชีวิตเพิ่มมากขึ้น แบบประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit-Linked) จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่กำลังมีบทบาทต่อธุรกิจเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน และจากการที่พฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไปมีการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็นับเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตเข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น โดยได้มีการพัฒนาช่องทางการขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีการปรับปรุงกฎระเบียบ และกฎหมายเพื่อรองรับช่องทางการขายนี้ เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจสามารถดำเนินการทำธุรกรรมด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัยสูง ซึ่งคาดว่าช่องทางนี้จะสามารถเติบโตได้ดีต่อไปในอนาคต