กรุงศรี ชี้ มีนาคม เดือนเดียวเงินบาทแข็งค่า 3.3%

ธนบัตร ค่าเงินบาท
MANAN VATSYAYANA / AFP

กรุงศรี คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 33.90-34.65 บาทต่อดอลลาร์ ลุ้นข้อมูลจ้างงานสหรัฐ เผย มี.ค.เดือนเดียวบาทแข็ง 3.3% ขณะที่ไตรมาส 1 แข็งค่าขึ้น 1%

วันที่ 3 เมษายน 2566 กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ (3-7 เม.ย.) ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.90-34.65 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 34.18 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.02-34.42 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ยกเว้นเงินเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะที่นักลงทุนลดความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตภาคธนาคารและเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง เงินยูโรได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรยูโรโซนที่สูงขึ้น แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในยูโรโซนชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว แต่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาอาหารและเชื้อเพลิงลดลงได้ยาก และตลาดมองว่าอีซีบีต้องการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป

ทางด้านดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ของสหรัฐชะลอลงสู่ 4.6% ในเดือน ก.พ. แต่ยังห่างจากเป้าหมายที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตั้งไว้ที่ 2%

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 1,985 ล้านบาท แต่มียอดซื้อพันธบัตรสุทธิ 1,815 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในเดือน มี.ค.และไตรมาส 1/66 เงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.3% และ 1.0% ตามลำดับ

Advertisment

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่านักลงทุนจะให้ความสนใจกับข้อมูล ISM ภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน มี.ค.ของสหรัฐ เพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยของเฟดท่ามกลางสัญญาณความเปราะบางที่ชัดเจนมากขึ้นจากการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นหลังกลุ่ม OPEC+ ประกาศร่วมมือลดกำลังการผลิต อาจทำให้ความวิตกด้านเงินเฟ้อกลับมารุมเร้าบรรยากาศการลงทุนอีกครั้ง

สำหรับปัจจัยในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นดอกเบี้ยด้วยเสียงเอกฉันท์ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ ขณะที่คาดว่าการส่งออกจะฟื้นตัวชัดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ดี กนง.ลดประมาณการจีดีพีปี 2566 และ 2567 ลงเล็กน้อย เป็นขยายตัว 3.6% และ 3.8% ตามลำดับ ขณะที่ปรับคาดการณ์การส่งออกปี 2566 เป็นหดตัว 0.7% และคาดว่าปี 2567 ส่งออกจะเติบโต 4.3%

อนึ่ง มติที่เป็นเอกฉันท์และท่าทีของทางการที่บ่งชี้ว่าข้อมูลในเวลานี้เอื้อให้ปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อไป แต่ กนง.เห็นว่าได้ดูแลความเสี่ยงในระดับหนึ่งแล้ว กรุงศรี มองว่าความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นของเศรษฐกิจโลกอาจทำให้ กนง.ตัดสินใจพักดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.75% ในการประชุมวันที่ 31 พ.ค. ได้เช่นกัน