แบงก์ตะลุมบอน ขึ้นดอกเบี้ยตาม กนง.เงินกู้ขยับยกแผง 0.25%

เงินบาท
ภาพจาก PIXABAY
ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 17 เมษายน 2566 เวลา 12.18 น.

แบงก์พาณิชย์-แบงก์รัฐ พาเหรดปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม กนง. เช็กเลย ใครปรับแล้ว ปรับเท่าไหร่กันบ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันแล้ว 5 ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ 1.75% ส่งผลให้สถาบันการเงินบางแห่งเริ่มขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตาม ทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ ดังต่อไปนี้

ธ.ก.ส. แบงก์รัฐนำร่องขึ้นดอกเบี้ย “เงินฝาก-กู้”

โดยธนาคารแรกที่นำร่อง คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยทุกประเภทตามทันที ทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.05-0.60% ต่อปี

และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% ต่อปี ประกอบด้วย อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายคนชั้นดี (MRR) จาก 6.625% ปรับขึ้นเป็น 6.875% อัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันและนิติบุคคลชั้นดี (MLR) จาก 5.125% ปรับขึ้นเป็น 5.375% และอัตราดอกเบี้ยประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) จาก 6.50% ปรับขึ้นเป็น 6.750%

ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป

SCB นำทัพแบงก์พาณิชย์ขยับดอกเบี้ย 2 ขา

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นธนาคารพาณิชย์รายแรกที่ประกาศขึ้นดอกเบี้ย เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. โดยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุด 0.30% ต่อปี และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เพื่อสะท้อนต้นทุนทางการเงินในระบบที่สูงขึ้น

โดยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.620% เป็น 6.870% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.350% เป็น 6.600% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.895% เป็น 7.145% ต่อปี

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยใหม่ มีผลตั้งแต่ วันที่ 6 เมษายน 2566

ธอส. ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้

นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการธนาคาร และรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.50% ต่อปี เป็น 1.75% ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน

ดังนั้นเพื่อส่งผ่านนโยบายดังกล่าว ธอส. จึงมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากประจำ 0.05-0.40% ต่อปี พร้อมทั้งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% ต่อปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2566 เป็นต้นไป

ออมสิน ขึ้นยกแผง ดบ. เงินกู้ทุกประเภทขยับ 0.25%

ธนาคารออมสิน ได้ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยใหม่ ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝาก โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% ทุกประเภท ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา (MLR) ขึ้นมาอยู่ที่ 6.650% ต่อปี, ดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ขึ้นมาอยู่ที่ 6.495% ต่อปี และดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ขึ้นมาอยู่ที่ 6.745% ต่อปี ส่วนดอกเบี้ยเงินฝาก ปรับขึ้นตั้งแต่ 0.05-0.4% ต่อปี ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 2566 เป็นต้นไป

SME D Bank ดอดขึ้น MLR 0.25% ตั้งแต่ 1 เม.ย.

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ประเภทสมุดคู่ฝาก และใบรับฝากเงินประจำ ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุด 0.25% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR : MINIMUM LOAN RATE) ปรับเพิ่มขึ้น 0.25% ต่อปี จาก 7.00%ต่อปี เป็น 7.25%ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ธนาคารยังตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ไว้ที่ 8.050% ต่อปีเช่นเดิม ระบุเพื่อลดผลกระทบแก่เอสเอ็มอีรายย่อย

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%ต่อปี จาก 1.50% เป็น 1.75% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจาก เห็นว่า เหมาะสมกับแนวโน้มของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยในปัจจุบัน ดังนั้น SME D Bank ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีบทบาทช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย จึงปรับอัตราดอกเบี้ย ทั้งเงินฝาก และเงินกู้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของ กนง. รวมถึง อัตราดอกเบี้ยในตลาดและการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจไทย

ธนาคารกรุงเทพ ขึ้นทั้งกระดาน-ดอกกู้ขยับ 0.05-0.20%

ธนาคารกรุงเทพ ประกาศผ่านเว็บไซต์ธนาคารปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ยกแผง โดยอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 6.65% ต่อปี จาก 6.45% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) อยู่ที่ 7.10% ต่อปี จาก 6.90% และอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อยู่ที่ 6.85% ต่อปี จาก 6.80% ต่อปี

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสะสมทรัพย์จาก 0.50% ต่อปี เป็น 0.55% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำปรับขึ้นเฉลี่ย 0.10-0.15% ต่อปี

ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2566 เป็นต้นไป

ธนาคารกสิกรไทย ขึ้นทั้งกระดาน เริ่มสงกรานต์

ธนาคารกสิกรไทย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภท สูงสุด 0.35% สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น ธนาคารพิจารณาปรับระดับอัตราดอกเบี้ยให้มีความสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดและระบบธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตามรายละเอียดดังนี้

  • อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับเพิ่ม 0.25% จาก 6.57% เป็น 6.82%
  • อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับเพิ่ม 0.25% จาก 6.89% เป็น 7.14%
  • อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับเพิ่ม 0.25% จาก 6.60% เป็น 6.85%

โดยให้มีผลในวันที่ 13 เมษายน 2566 เป็นต้นไป

EXIM Bank ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้หลังสงกรานต์

ขณะที่แบงก์รัฐอีกราย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.25% ต่อปี จาก 6.00% ต่อปี เป็น 6.25% ต่อปี ซึ่งยังคงเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ

ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2566 เป็นต้นไป

กรุงไทย ไม่รีบ ขอรอดูสถานการณ์ตลาด

ด้านธนาคารกรุงไทย ระบุว่า การพิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคาร จะพิจารณาและดูกลไกตลาดเป็นหลัก หากตลาดปรับดอกเบี้ยขึ้น ธนาคารต้องปรับขึ้นตาม เพราะการส่งผ่านสภาพคล่องเป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการ

ธนาคารกสิกรไทย ขึ้นดอกเบี้ย “เงินกู้-เงินฝาก” มีผล 13 เม.ย. 66

ธนาคารกสิกรไทย ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยตามดอกเบี้ยนโยบาย ดอกเบี้ยเงินฝากปรับสูงสุด 0.35% ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ปรับยกแผง 0.25% มีผล 13 เม.ย. 2566

วันที่ 12 เมษายน 2566 นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารตอบสนองการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายในประเทศ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภท สูงสุด 0.35%

กรุงไทยขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ มีผล 13 เม.ย.นี้

กรุงไทย ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 0.35% ต่อปี และเงินกู้ MLR และ MRR ที่ 0.25% ต่อปี และ MOR 0.20% ต่อปี พร้อมยืนหยัดดูแลกลุ่มเปราะบางและเอสเอ็มอี รับมือความท้าทายเศรษฐกิจ มีผล 13 เม.ย. 66

ttb ขึ้นดอกเบี้ยฝากประจำแล้ว เตรียมขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 18 เม.ย. 66

ทีเอ็มบีธนชาติ หรือทีทีบี (ttb) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ และเงินกู้ เพื่อสอดรับดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเงินฝากประจำ มีการปรับอัตราดอกเบี้ย ดังนี้

สำหรับลูกค้าบุคคลทั่วไป

  • บัญชีเงินฝากประจำทั่วไป (3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน) ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุด 0.20% ต่อปี
  • บัญชีเงินฝากประจำพิเศษ ได้แก่
    • บัญชี ทีทีบี ดอกเบี้ยด่วน ประเภท 3 เดือน ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.60% เป็น 1.10% ต่อปี โดยลูกค้าสามารถรับดอกเบี้ยไปใช้หลังการฝากเงินเพียง 7 วัน
    • บัญชีเงินฝากประจำพิเศษ ทีทีบี เอ็กซ์คลูซีฟ 9 เดือน ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น  0.30% เป็น 1.20% ต่อปี โดยลูกค้าสามารถฝากระยะสั้น และได้รับผลตอบแทนสูง

สำหรับลูกค้านิติบุคคล

  • กลุ่มลูกค้านิติบุคคลทั่วไป ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน
    • บัญชีเงินฝากประจำ 24 เดือน ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็น 1.40% ต่อปี
    • บัญชีเงินฝากประจำ 36 เดือน ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็น 1.70% ต่อปี
  • กลุ่มลูกค้าที่เป็นสถาบันการเงิน
    • บัญชีเงินฝากประจำ 24 เดือน ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็น 1.10% ต่อปี
    • บัญชีเงินฝากประจำ 36 เดือน ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็น 1.40% ต่อปี

โดยการปรับขึ้นเงินฝากดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ธนาคารปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี MLR (Minimum Loan Rate) 0.25% และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย MOR (Minimum Overdraft Rate) สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี 0.25% ในขณะที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี MRR (Minimum Retail Rate) 0.20% มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2566 เป็นต้นไป