ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ล่าสุดนักลงทุนให้น้ำหนักถึงร้อยละ 87 คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคมนี้อีกร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 5.00 – 5.25

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 18 เมษายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/4) ที่ระดับ 34.45/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/4) ที่ระดับ 34.36/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าภายหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยดัชนีภาคการผลิต (Empire State  Index) เดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 10.80 สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ -18.00 และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -24.60 จากการปรับตัวสูงขึ้นของจำนวนคำสั่งซื้อใหม่และกาคธุรกิจปรับเพิ่มความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ส่งสัญญาณว่าภาคการผลิตของนิวยอร์กมีแนวโน้มขยายตัวสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ว่าจะหดตัว

นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอดแลนตาเปิดผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 1/2566 ขยายตัวร้อยละ 2.5 เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ร้อยละ 2.2 ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐโดยรวมยังคงขยายตัวกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ขณะที่สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 45 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2565

โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง ส่งสัญญาณว่าความเชื่อมั่นต่อภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐยังคงดีกว่าคาดการณ์ ส่งผลให้นักลงทุนปรับเพิ่มน้ำหนักการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดในการประชุมเดือนพฤษภาคม โดยล่าสุดให้น้ำหนักร้อยละ 87 สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 5.00 – 5.25 และให้น้ำหนักร้อยละ 13 ในการคงอัตราดอกเบี้ยเฟดที่ระดับร้อยละ 4.75-5.00

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ล่าสุดนายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีถ้อยเถลงว่า กนง.ไม่ได้ตั้งเป้าหมายตจุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่มีการพิจารณาดูแนวโน้มในปัจจุบัน การคาดการณ์ในอนาคต และปรับแนวทางการดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยหลักการคือการให้ความสำคัญกับความเสี่ยงรื่องอัตราเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.24 – 34.48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.26/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/4) ที่ระดับ 1.0929/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/4) ที่ระดับ 1.0977/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของยุโรป (ZEW) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเยอรมนีเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 4.1 ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 15.3 และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 13.0

และดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจยุโรปเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 6.4 ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 13.0 และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 10.0 ส่งสัญญาณว่านักลงทุนยังคงมีมุมมองไม่ค่อยดีนักต่อภาวะเศรษฐกิจยุโรปและเยอรมนี โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0928 – 1.0982 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0975/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/4) ที่ระดับ 134.47/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/4) ที่ระดับ 134.05/08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนยังคงจับตาดูแนวทางการดำเนินนโยบายของนาย คะซึโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 134.06 – 134.58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 134.16/18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ให้แก่ จำนวนใบขออนุญาตก่อสร้างอาหารของสหรัฐ เดือนมีนาคม (18/4), รายงานจำนวนที่อยู่อาศัยเริ่มสร้างของสหรัฐ เดือนมีนาคม (18/4), ผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเดือนกุมภาพันธ์ (19/4), ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหราชอาณาจักร เดือนมีนาคม (19/4), ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน เดือนมีนาคม (19/4), รายงานดัชนีการผลิตจากเฟดรัฐฟิลาเดลเพีย (20/4),

รายงานผู้รับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐ (20/4), ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐ เดือนมีนาคม (20/4), ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่น เดือนมีนาคม (21/4), ตัวเลขส่งออก-นำเข้าของไทย เดือนมีนาคม (21/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของยูโรโซน เดือนเมษายน (21/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐ เดือนเมษายน (21/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.25/-10.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.35/-7.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ