เศรษฐกิจโตกระจุก บจ.mai กำไรทรุด กดดัชนีตลาดดิ่ง “วอลุ่ม-มาร์เก็ตแคป” วูบ

บจ.เอ็ม เอ ไอ ปี’60 กำไรรวมหดเหลือ 4.9 พันล้านบาท ทรุด 13% เหตุต้นทุนพุ่ง-ขาดทุนพิเศษ กดดัชนีร่วง ฟาก บจ.ใน SET อู้ฟู่ 9.6 แสนล้าน แรงส่งราคาน้ำมันดิบขึ้น ปั๊มกลุ่มพลังงานโตโดด “ภากร” วิเคราะห์ บจ. SET โตต่อเนื่องจากการออกไปลงทุน ชี้หุ้นเอ็ม เอ ไอเป็น บ.กลาง-เล็ก ติดกับดักเศรษฐกิจในประเทศฝืด โบรกฯชี้ผลงานกลุ่ม mai รอลุ้น ศก.ครึ่งปีหลัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในช่วงต้นปีถึง 6 มี.ค. 61 ดัชนี mai ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยปิดที่ 494.31 จุด ร่วงกว่า 8.52% จากสิ้นปี 2560 ด้านมูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) ซบเซา เหลือเฉลี่ยวันละ 1,799 ล้านบาท จากปีก่อนเฉลี่ย 2,358.35 ล้านบาท และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) เหลืออยู่ 310,868 ล้านบาท หายไป 27,968 ล้านบาท จากสิ้นปี 2559

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2560 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใน mai จำนวน 143 บริษัท จากทั้งหมด 151 บริษัท (ไม่นับรวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน (NC) และบริษัทที่ไม่นำส่งงบการเงินตามกำหนด) พบว่า ปี 2560 มีกำไรสุทธิรวม 4,966 ล้านบาท ลดลง 13.54% จากปี 2559 ขณะที่มียอดขายรวมอยู่ที่ 158,735 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.06%

สาเหตุที่กำไรสุทธิลดลง เนื่องจากต้นทุนของแต่ละบริษัทปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยมีต้นทุนรวมกว่า 121,908 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.43% จากปีก่อน ทำให้กดดันอัตราการทำกำไรขั้นต้นลดลงจาก 24.80% เป็น 23.20% รวมถึงบาง บจ.ยังมีการบันทึกขาดทุนจากรายการพิเศษ แต่ในส่วนของโครงสร้างเงินทุนรวมของ บจ.ยังอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแรง โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือ D/E ratio อยู่ใน 0.97 เท่า

ส่วน บจ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) จำนวน 566 บริษัท จากทั้งหมด 579 บริษัท รายงานว่า งวดปี 2560 บจ. มีผลประกอบการสูงขึ้นทั้งยอดขายและกำไรสุทธิ โดยยอดขายอยู่ที่ 11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.72% และมีกำไรสุทธิรวม 9.62 แสนล้านบาท โต 9% ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานของหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคที่ได้รับผลดีจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจไทยที่เติบโตชัดเจนในครึ่งปีหลัง

นายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานการเงินและบริหารเงินลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เคยให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บจ.ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่อง แม้ภาวะเศรษฐกิจในประเทศอาจจะไม่ค่อยสดใสมากนัก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากที่ บจ.ในตลาดมีการออกไปลงทุนและรับรู้รายได้จากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ผลการดำเนินงานของ บจ.ส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง แม้ภาวะเศรษฐกิจจะยังฟื้นตัวช้า

ขณะที่กำไรของ บจ.ใน mai จะอิงกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างมากกว่า และส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลาง-เล็ก จึงส่งผลให้กำไรอาจสะท้อนในทิศทางที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจในประเทศ มากกว่าภาพของ บจ.ใน SET

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้น mai ที่แย่ลง เนื่องจากผลการดำเนินงานของบริษัทส่วนใหญ่ไม่ค่อยสดใสมากนัก ส่งผลให้กำไรโดยรวมปรับตัวลดลง

“นักลงทุนในปัจจุบันฉลาดลงทุนมากขึ้น ซึ่งมักเลือกลงทุนในหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง ๆ โดยเฉพาะหุ้นใน SET และบางส่วนมาจากผลการดำเนินของหุ้นขนาดเล็กที่ออกมาไม่ค่อยดีด้วย จึงส่งผลให้การเข้ามาลงทุนในหุ้นขนาดเล็กลดลง” นายประกิตกล่าว

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานค้าหลักทรัพย์บุคคล บล.บัวหลวง กล่าวว่า ดัชนีและมาร์เก็ตแคปตลาด mai ปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะหุ้นที่มีน้ำหนักต่อการคำนวณในดัชนีสูง ๆ อาทิ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) มีราคาหุ้นลงแรงในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้การเทรดหุ้นขนาดเล็กยังมีความคาดหวังต่อผลประกอบการสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งสะท้อนได้ระดับพี/อี (อัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรสุทธิ) ที่อยู่ในระดับสูง

“กำไรของบริษัทเล็ก ๆ ที่ลดลงก็อาจสะท้อนได้ถึงสภาพเศรษฐกิจในประเทศที่แม้จะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ก็ยังเป็นแบบกระจุกตัว ขณะที่การฟื้นตัวของตลาด mai ยังคาดหวังได้ยากในตอนนี้ เพราะยังไม่เห็นตัวเลขผลงานที่ผงกหัวขึ้น อาจจะต้องดูภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกก่อน หากเศรษฐกิจออกมาดีก็อาจผลักดันให้หุ้น mai ดูคึกคักมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังได้” นายชัยพรกล่าว