เปิดข้อสรุป เฮียริ่งเกณฑ์ Thailand Taxonomy เป้าปล่อยกู้ธุรกิจสีเขียว

Thailand Taxonomy

ธปท.-ก.ล.ต. เปิดข้อสรุปรับฟังความคิดเห็นเกณฑ์ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 เป้าหมายเพื่อใช้อ้างอิงปล่อยกู้ธุรกิจสีเขียว นำร่องจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคพลังงาน-ขนส่ง พร้อมเล็งขยายเกณฑ์เฟส 2 คลุมภาคอุตสาหกรรม-เกษตรกรรม-ก่อสร้าง ด้าน “สถาบันการเงิน-ผู้ประกอบการ” ชงควรมีมาตรการส่งเสริมด้านภาษีหรือแรงจูงใจอื่นช่วยลดต้นทุนหนุนกลุ่ม Red ปรับตัวเปลี่ยนเป็นกลุ่ม Green ด้วย

วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะประธานร่วมคณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ได้เปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณชน ระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ถึง 26 มกราคม 2566

เกี่ยวกับร่างมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 1 ที่มุ่งเน้นการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพลังงานและภาคการขนส่ง ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูงก่อน เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีการจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไว้ใช้ประเมินหรือกำหนดเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

และเป็นหนึ่งในทางเลือกเพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการเข้าถึงบริการและเครื่องมือทางการเงิน ที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมนั้น

ล่าสุดทาง ธปท. และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 จะครอบคลุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องและวัตถุประสงค์ทางสิ่งแวดล้อมที่ให้ความสำคัญกับมิติการลดก๊าซเรือนกระจกก่อน

ทั้งนี้บางส่วนมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น ให้ระบุรายการที่เข้าข่ายเป็นกิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Red list of activities) และให้พิจารณาจัดทำ Thailand Taxonomy สำหรับภาคเศรษฐกิจอื่น อาทิ ภาคอุตสาหกรรม, ภาคเกษตรกรรม เป็นต้น เพิ่มเติมในระยะถัดไปด้วย

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ได้รวบรวมข้อสรุปข้อเสนอแนะดังกล่าวในการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 โดยผู้เกี่ยวข้องในการรับฟังความคิดเห็น ประกอบด้วย

  • ภาครัฐและผู้กํากับดูแลที่เกี่ยวข้องกับภาคพลังงานและภาคขนส่ง เช่น หน่วยงานในกระทรวงพลังงาน และกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่สนใจ
  •  สถาบันการเงิน
  • ผู้ประกอบธุรกิจในภาคพลังงานและภาคขนส่ง และผู้ประกอบธุรกิจในภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ
  • องค์การไม่แสวงหาผลกําไร (non-governmental organization : NGO)
  • นักวิชาการและบุคคลทั่วไป

ขอสรุปความเห็นในประเด็น “ภาพรวม” ของการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ดังนี้

ผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน เห็นควรระบุว่ากิจกรรมใดบ้างที่ถูกจัดเป็นกลุ่ม Red เพื่อให้การนําไปใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันและสะดวกต่อการนําไปใช้ คณะทํางานฯ เห็นชอบให้ปรับเพิ่มรายละเอียดสรุปกิจกรรมที่เข้าข่ายกลุ่ม Red ใน Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ฉบับสมบูรณ์ เช่น การผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหิน หรือ น้ำมัน

บุคคลทั่วไป เห็นควรปรับเพิ่มรายละเอียดของคําศัพท์เฉพาะ (technical term) คณะทํางานฯ เห็นชอบให้ปรับเพิ่มรายละเอียดของคําศัพท์เฉพาะ เช่น การประเมินวัฏจักรชีวิต (Life-cycle assessment) ไฮโดรเจนสีเขียว (Green hydrogen) และการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste-to-Energy : WtE) เป็นต้น เพื่อให้ผู้ใช้งานมีความเข้าใจที่ตรงกัน

ผู้ประกอบการและ NGO เห็นควรมีความชัดเจนว่าโครงการหรือกิจกรรมใดที่เข้าข่ายนับเป็นโครงการหรือกิจกรรม “ใหม่” และโครงการหรือกิจกรรม “เดิม” คณะทํางานฯ เห็นชอบให้ปรับเพิ่มรายละเอียดของความหมายโครงการหรือกิจกรรม “ใหม่” และ “เดิม” โดยกําหนดให้โครงการหรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่มีอยู่เดิม

ผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน และ NGO เห็นว่าการคํานวณตัวชี้วัดควรใช้ข้อมูลการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และแผนการเปลี่ยนผ่านของแต่ละภาคส่วนฉบับล่าสุด คณะทํางานฯเห็นว่า Thailand Taxonomy อ้างอิงการคํานวณตามหลักการทางวิทยาศาสตร์โดยมุ่งเน้นการบรรลุเป้าหมายไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีส

สําหรับข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทํา Thailand Taxonomy ได้ใช้เอกสารล่าสุดของแต่ละหน่วยงานในคณะทํางานฯแล้ว อาทิ Thailand Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy (ปรับปรุงเดือน พฤศจิกายน 2565), ร่างแผนพลังงานชาติ (2565) และแผน PDP ภาคประชาชน (2565) เป็นต้น

ขอสรุปความเห็นในประเด็น “ข้อเสนอแนะในกิจกรรมด้านพลังงานที่ต้องการให้เพิ่มเติมหรือปรับปรุง” ของการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ดังนี้

NGO เห็นว่า Do no significant harm (DNSH) ของ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ยังไม่ได้มีการกําหนดเกณฑ์ DNSH ที่เฉพาะเจาะจงสําหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ (hydropower)โดยเฉพาะเกณฑ์ DNSH ด้านความหลากหลากทางชีวภาพของทั้งระบบนิเวศลุ่มน้ำ

คณะทํางานฯ เห็นชอบให้เพิ่มรายละเอียด หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้้ำ (hydropower) ที่รัดกุมเพิ่มขึ้น เนื่องด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้้ำส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ โดยเฉพาะทางระบบนิเวศวิทยา

NGO เห็นว่าร่าง Thailand Taxonomy ยังไม่รวมกิจกรรม โรงไฟฟ้าพลังงานร่วม (co-generation) ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานหลัก โดยอาจประยุกต์ใช้เงื่อนไขและตัวชี้วัดของ EU Taxonomy แต่ปรับให้ตรงกับเกณฑ์ Green และ Amber ของไทย คณะทํางานฯ เห็นชอบให้เพิ่มกิจกรรมการผลิตพลังงานความร้อนหรือเย็นร่วมจากพลังงานหมุนเวียน (cogeneration of heating/cooling and power using renewable sources of energy)

NGO เห็นว่าโรงไฟฟ้าชีวมวล (bioenergy) ที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงมีการแปรสภาพขยะชุมชนมาเป็นเชื้อเพลิง ต้องผ่านกระบวนการเผาก่อนถึงจะนํามาเป็นพลังงานได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ จึงไม่ควรถูกจัดหมวดหมู่เป็น “กิจกรรมเขียว” และควรเข้าข่าย “กิจกรรมสีแดง”

คณะทำงานฯ เห็นว่ากิจกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวล (bioenergy) ของ Thailand Taxonomy ไม่ได้รวมถึงการผลิตพลังงานจากขยะ (waste to energy) ซึ่งจะถูกจัดอยู่ในหมวดกิจกรรมการจัดการขยะ (waste management) โดยเกณฑ์การผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวลจะอนุญาตให้เปลี่ยนขยะชีวภาพชุมชนบางส่วน (เช่น หญ้าและใบไม้) เป็นพลังงานชีวภาพได้ โดยต้องไม่ผ่านกระบวนการเผา

ทั้งนี้คณะทํางานฯ เห็นชอบให้ปรับปรุงรายละเอียดของ bioenergy ให้มีความชัดเจนเพิ่มขึ้นและเพิ่มเติมรายละเอียดดังกล่าวใน FAQ เพื่อลดความสับสนกับกิจกรรมในกลุ่มการจัดการขยะ

NGO เห็นควรระบุ greenhydrogen ให้ชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องกับ fossil fuel production คณะทํางานฯ เห็นชอบให้เพิ่มรายละเอียดของ “green hydrogen” ให้มีความชัดเจนเพิ่มขึ้น

ผู้ประกอบการ เห็นว่ากิจกรรม Transmission and distribution networks for renewable and low-carbon gases ควรจะเพิ่มตัวชี้วัด “Red” ให้มีความชัดเจนและครบถ้วน คณะทํางานฯ เห็นชอบให้เพิ่มรายละเอียดกิจกรรม Transmission and distribution networks for renewable and low-carbon gases ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์

ผู้ประกอบการ และสถาบันการเงิน เห็นควรเพิ่มความชัดเจนและความเชื่อมโยงในรายละเอียดของประสิทธิภาพการการใช้พลังงาน (energy efficiency) คณะทำงานฯ เห็นว่า Energy efficiency เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สามารถนําไปใช้เพื่อให้บรรลุเกณฑ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรมต่าง ๆ ได้

ซึ่ง Thailand Taxonomy มีการนํา energy efficiency เข้ามาในกระบวนการจัดทําแล้ว รวมถึงในบางกิจกรรมมีการใช้ตัวชี้วัดด้าน energy efficiency ทั้งนี้คณะทํางานฯ เห็นชอบให้ปรับปรุงรายละเอียดให้มีความชัดเจนเพิ่มขึ้น และเพิ่มเติมรายละเอียดดังกล่าวใน FAQ

ขอสรุปความเห็นในประเด็น “ข้อเสนอแนะในกิจกรรมด้านขนส่งที่ต้องการให้เพิ่มเติมหรือปรับปรุง” ของการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ดังนี้

บุคคลทั่วไปและผู้ประกอบการ เห็นควรพิจารณาเพิ่มกิจกรรมขนส่งทางอากาศ คณะทำงานฯ เห็นว่าเนื่องด้วยปัจจุบันความรู้ทางวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศระหว่างประเทศยังไม่มีการกําหนดแนวทางการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมที่สุดสําหรับภาคการบิน

และ Taxonomy ประเทศอื่น ๆ ยังไม่ได้รวมกิจกรรมการขนส่งทางอากาศ รวมถึงประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการขนส่งทางอากาศภายในและต่างประเทศมากพอ คณะทํางานฯ จึงยังไม่รวมกิจกรรมการขนส่งทางอากาศใน Thailand Taxonomy ฉบับนี้ อย่างไรก็ดีหากมีข้อมูลที่เพียงพอ คณะทํางานฯ จะดําเนินการปรับปรุงและเพิ่มเติมกิจกรรมดังกล่าวใน Thailand Taxonomy ภายหลัง

บุคคลทั่วไปผู้ประกอบการ และภาครัฐ เห็นควรพิจารณาเพิ่มรถยนต์ที่ช่วยลด CO2 เช่น รถยนต์ hybrid คณพทำงานฯ เห็นว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าและปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์อยู่แล้ว ซึ่งรถยนต์ hybrid เป็นการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพรองลงมา ทั้งนี้ คณะทํางานฯ เห็นชอบให้เพิ่มเติมรายละเอียดใน FAQ

ขอสรุปความเห็นในประเด็น “ข้อเสนอแนะในการดําเนินการในระยะถัดไป” ของการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ดังนี้

บุคคลทั่วไป, ผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน เห็นควรเสนอให้ระยะถัดไปครอบคลุมกลุ่มกิจกรรมในด้านของผู้ใช้พลังงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยว ภาคการจัดการขยะ (waste management) ซึ่งรวมถึงการผลิตพลังงานจากขยะ (waste to energy) และภาคอาคารและการก่อสร้าง

บุคคลทั่วไปและผู้ประกอบการ เห็นว่าภาคเกษตรเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรูปแบบ scope 3 ของภาคการผลิตอาหาร จึงเสนอเพิ่มเติมให้ผู้ดําเนินโครงการที่มีศักยภาพเข้าไปมีส่วนร่วมกับ Supply Chain Partner อย่างไรก็ดีภาคเกษตรอาจพิจารณาดําเนินการในระยะถัด ๆ ไป เนื่องจากทําได้ยาก ใช้เวลานาน และมีความซับซ้อนกว่าภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ

ความเห็นทั้งสองส่วนนี้ คณะทํางานฯ จะรับไปพิจารณาในการดําเนินการในระยะถัดไปโดยจะพิจารณาตามความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย โดยคํานึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่นเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูงและมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจไทย เป็นต้น

ผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน เห็นควรระบุกรอบระยะเวลาและรายละเอียดทบทวนให้ชัดเจน โดยพิจารณาภายใต้กระแสเทคโนโลยี สภาพแวดล้อม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้การกําหนดมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ที่จะบังคับใช้ทันกาลต่อการปรับตัวและการเตรียมความพร้อมในการปรับต่อของทุกภาค คณะทำงานเห็นว่า Thailand Taxonomy เป็นเอกสารรูปแบบ living document โดยเบื้องต้นกําหนดให้มีการทบทวนทุก 3-5 ปี

ขอสรุปความเห็นในประเด็น “ข้อเสนอแนะในการนําไปใช้และข้อเสนออื่น ๆ” ของการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ดังนี้

ผู้ประกอบการNGO และบุคคลทั่วไป เห็นว่าภาครัฐควรเปิดเผยข้อมูลตาม taxonomy เพื่อเป็นตัวอย่างและกระตุ้นให้ภาคเอกชนปรับตัวตาม รวมถึงเร่งทําฐานข้อมูล รวมถึงระบบติดตามและประเมินที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ เป็น one-stop service และไม่สร้างภาระเพิ่มเติมให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ

โดยฐานข้อมูลควรเข้าถึงได้ง่าย คณะทำงานฯ เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในคณะทํางานฯ จะพิจารณาความเป็นไปได้และความเร่งด่วนในการดําเนินการตามข้อเสนอแนะต่อไป

สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการ เห็นควรมีมาตรการส่งเสริมการใช้งาน Thailand Taxonomy เช่น การสนับสนุนด้านภาษีหรือแรงจูงใจอื่นที่ช่วยในการลดต้นทุนการสนับสนุนสําหรับกลุ่ม Red ให้สามารถปรับตัวหรือเปลี่ยนเป็นกลุ่ม Green ได้ เป็นต้น นอกจากนี้ควรสนับสนุนในมิติต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับ Thailand Taxonomy เช่น แผนสนับสนุนในด้านพลังงานและขนส่งที่มีความชัดเจนแผนพัฒนาเทคโนโลยีอื่นที่สนับสนุนการปรับตัวและแผนสนับสนุนให้มีผู้ทวนสอบ (verifier) คณะทํางานฯ จะพิจารณาความเป็นไปได้และความเร่งด่วนในการดําเนินการตามข้อเสนอแนะต่อไป