เงินบาทอ่อนค่า จับตาตัวเลขจ้างงานสหรัฐ

เงินบาท-ตลาดหุ้นไทย

ค่าเงินบาทอ่อนค่า จับตาตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้การดำเนินนโยบายการเงินของเฟดต่อไป ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.97-35.21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 35.06/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/7) ที่ระดับ 35.03/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (5/7) ที่ระดับ 34.88/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนมิถุนายน ระบุว่า กรรมการเฟดส่วนหนึ่งสนับสนุนให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% และมีความเห็นว่าการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อเป็นไปอย่างเชื่องช้า

แม้ว่ากรรมการเฟดทุกคนได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมดังกล่าว แต่มีจุดประสงค์ยืดเวลาในการประเมินความคืบหน้าและแนวโน้มที่เงินเฟ้อจะกลับระดับสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% โดยปัจจุบันเงินเฟ้อสหรัฐอยู่สูงกว่าเป้าหมายดังกล่าวถึง 2 เท่า และกรรมการเฟดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในปีนี้

อย่างไรก็ตาม กรรมการเฟดต้องการชะลอความแรงของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อขยายเวลาในการประเมินผลกระทบที่เกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา โดยเฟดจับตาข้อมูลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินอย่างเหมาะสมต่อไป

Advertisment

ในการประชุมครั้งนี้เฟดได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สู่ระดับ 1.0% ในปีนี้ แต่ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ในปี 2567 และ 2568 สู่ระดับ 1.1% และ 1.8% ตามลำดับ พร้อมกับปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสู่ระดับ 3.9% ในปีนี้ และอยู่ที่ 2.6% และ 2.2% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยคำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนพฤษภาคม นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ในรอบ 6 เดือน สาเหตุจากภาคโรงงานได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อในภาคขนส่ง ทั้งนี้นักลงทุนจับตาดูการรายงานตัวเลขจ้างงานสหรัฐ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้การดำเนินนโยบายการเงินเฟดต่อไป

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.97-35.21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.06/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/7) ที่ระดับ 1.0842/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (5/7) ที่ระดับ 1.0893/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นสุดท้ายอยู่ที่ระดับ 49.9 ในเดือนมิถุนายน ปรับตัวลงจาก 52.8 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา

Advertisment

บ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคธุรกิจอยู่ในภาวะหดตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 52.0 จากระดับ 55.1 จากระดับ 55.1 ในเดือนพฤษภาคม และต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ระดับ 52.4

นอกจากนี้ซิตี้กรุ๊ปปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจยูโรโซนปี 2566 จากการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวต่อในขณะที่ต้องเผชิญแรงกดดันจากสภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง โดยปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แท้จริงของยูโรโซนในปีนี้ สู่ระดับ 0.8% จากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 1.1%

ปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากของ ECB อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 22 ปีที่ 3.5% ภายหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมที่ผ่านมา โดยผู้กำหนดนโยบายได้ส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย เพื่อจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อ ซึ่งยังคงสูงกว่ากรอบเป้าหมาย 2% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0834-1.0875 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0866/70 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/7) ที่ระดับ 144.39/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (5/7) ที่ระดับ 144.37/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 143.56-144.44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 144.00/02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (6/7), ตัวเลขการนำเข้า-ส่งออก และดุลการค้าเดือน พ.ค. ของสหรัฐ(6/7), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการเดือน มิ.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (6/7), ตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่ของสหรัฐ จาก JOLTs ประจำเดือน พ.ค., อัตราว่างงานของสหรัฐ (7/7) และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ประจำเดือน มิ.ย. (7/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.90/-10.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.65/-9.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ