ธนาคารกลางสหรัฐปรับดอกเบี้ย จับตานโยบายการค้าสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (19/3) ที่ 31.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/3) ที่ 31.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16/3) ได้มีการเปิดเผยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐในเดือน ก.พ. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 4 เดือน และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 0.3% ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. ซึ่งสำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 102 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2547 และสูงกว่าระดับ 99.9 ในเดือน ก.พ. ในขณะที่ตัวเลขการสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐประจำเดือน ก.พ. ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1.24 ล้านยูนิต ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.29 ล้านยูนิต โดยในช่วงกลางสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงหลังจากนักลงทุนผิดหวังผลการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เกี่ยวกับการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ แต่ทางเฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง และคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า และ 2 ครั้งในปี 2563 ทั้งนี้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.2% สู่ระดับ 1.50-1.75% เฟดยังระบุเพิ่มเติมว่าแนวโน้มเศรษฐกิจได้แข็งแกร่งขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และคาดว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า และจะมีเสถียรภาพใกล้กับเป้าหมายของเฟด ในขณะเดียวกันเฟดได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับ 2.7% จากเดิมที่ 2.5% และได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจในปีหน้า สู่ระดับ 2.9% จากเดิมที่ระดับ 2.7% ส่วนการขยายตัวในปี 2563 คาดว่าจะชะลอตัวสู่ 2% ขณะที่อัตราการขยายตัวในระยะยาวยังคงอยู่ที่ระดับ 1.8% และคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไป และเงินเฟ้อพื้นฐานที่ระดับ 1.9% ในปีนี้ ส่วนในปีหน้า คาดว่าตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานจะปรับตัวขึ้นสู่ 2.1% จากเดิมที่ระดับ 2.0% และตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปยังคงอยู่ที่ 2.0% ส่วนในปี 2563 คาดว่าตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไป และเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 2.1% จากเดิมที่ 2.0% นอกจากนี้นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวถึงนโยบายการค้าของคณะทำงานประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับภาคธุรกิจ โดยกล่าวว่ากรรมการเฟดหลายคนในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ได้หยิบยกประเด็นภาษีศุลกากรขาเข้ามาพูดคุยในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งสรุปได้ว่า แม้การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าอาจจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่กรรมการเฟดหลายคนเปิดเผยว่า หลังจากที่ได้มีการพูดคุยกับบรรดาผู้นำในภาคธุรกิจทั่วประเทศ พบว่านโยบายการค้าของรัฐบาลสหรัฐได้กลายมาเป็นปัจจัยที่สร้างความวิตกกังวลต่อภาคธุรกิจ ทั้งนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันจากความกังวลหลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ลงนามคำสั่งประธานาธิบดี โดยใช้มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 เพื่อเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนโดยมีวงเงินถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นสัญญาณของสงครามการค้าที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต

ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ก.พ. 61 โดยการส่งออก มีมูลค่า 20,365 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.3% จากตลาดคาดว่าจะขยายตัวราว 9.2% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 19,557 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 807 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าในเดือน ก.พ.นี้ การส่งออกของไทยในรูปของเงินบาท ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบปีที่ 0.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้ของผู้ประกอบการส่งออกเมื่อคำนวณจากดอลาร์สหรัฐกลับมาในรูปของเงินบาทแล้วมีรายได้ลดลง โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.17-31.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตัวที่ระดับ 31.20/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.2266/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนคาลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/3) ที่ระดับ 1.2320/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16/3) สำนักงานสถิติแห่งยุโรป เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือน ก.พ. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1% ลดลงจากเดือนก่อนหน้า และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.2% ขณะะที่ในวันนี้ (20/3) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.2340/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (19/3) ที่ 1.2295/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร วานนี้มีรายงานว่าสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร สามารถบรรลุข้อตกลงในการเจรจาเรื่อง Brexit ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทางสหภาพยุโรปจะอนุญาตให้สหราชอาณาจักรยังคงอยู่ในกลุ่มต่อไปจนถึงสิ้นปี 2563 แต่จะมีบทบาทและอำนาจที่ลดน้อยลง ทั้งนี้สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักรได้กำหนดช่วงเวลาดำเนินกระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นเวลา 21 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2562 จนถึงสิ้นปี 2563 ก่อนที่สหราชอาณาจักรจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ในขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติด้วยคะแนนเสียง 7-2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการ BoE ส่งสัญญาณภายหลังการประชุมเมื่อวานนี้ว่า BoE อาจพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากค่าจ้างในอังกฤษปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า BoE อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน พ.ค. โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.2237-1.2388 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.2331/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนสัปดาห์นี้ ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (19/3) ที่ระดับ 105.84/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/3) ที่ระดับ 105.67/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16/3) รัฐสภาญี่ปุ่นได้มีมติอนุมัติการเสนอชื่อนายฮารุฮิโกะ
คุโรดะ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ต่ออีกสมัย พร้อมกับรับรองการเสนอชื่อรองผู้ว่าการ BOJ อีก 2 คน โดยคาดว่าคณะผู้บริหารของ BOJ ชุดนี้จะเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินเชิงรุกต่อไป เนื่องจากเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังคงอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% ทั้งนี้ประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ เห็นพ้องที่จะจัดการประชุมไตรภาคีในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้คาดว่าอาจจะเป็นวันที่ 8-9 พฤษภาคม การประชุมครั้งนี้จะจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นโดยนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จะร่วมพูดคุยในประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ร่วมกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และนายมูน แจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ รายงานระบุว่า ในการประชุมไตรภาคีครั้งนี้ คาดว่านายชินโซ
อาเบะ จะร่วมพูดคุยกับนายหลี่ เค่อเฉียง เกี่ยวกับแผนการเดินทางเยือนจีน และพูดคุยร่วมกับนายมูน แจอิน เกี่ยวกับประเด็นรูปปั้นที่เป็นสัญลักษณ์การกดขี่สตรีเกาหลีในสมัยสงครามโลก โดยในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย จากความกังวลเรื่องสงครามการค้า โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 104.62-106.63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 104.89/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ