เปิด 4 ข้อชวนคิด เหล่า First jobber ก่อนตัดสินใจวางแผนเกษียณเร็ว

บทความโดย "ณัฐนันท์ เอื้อวัฒนะสกุล" 
นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

วันที่ 19 กันยายน 2566 แนวคิด “เกษียณเร็ว” หรือ F.I.R.E (Financial Independence, Retire Early) คือ การมีอิสรภาพทางการเงินจนสามารถหยุดทำงานตั้งแต่อายุไม่มาก เช่น ตั้งแต่อายุ 30-40 ปี ไม่ต้องรอเกษียณตามเวลาปกติ ในช่วง 55-65 ปี

เป็นแนวคิดที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก สำหรับ First jobber ในยุคนี้ เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ที่ปรารถนาความเป็นอิสระ ต้องการเวลาไปทำสิ่งที่อยากทำ ตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาวที่ยังมีพละกำลังมากมาย และไม่อยากจะทำงานไปจนแก่ แล้วค่อยได้ใช้ชีวิตอิสระในวัยเกษียณ ซึ่งอาจจะเหลือกำลังไปทำสิ่งต่าง ๆ ไม่มากแล้ว

หากเราหมดความกังวลเรื่องเงินตั้งแต่อายุน้อย ๆ สามารถไปใช้ชีวิตได้ตามที่ตัวเองต้องการได้ แค่คิดภาพตามก็เป็นแนวคิดที่ยอดเยี่ยม ใคร ๆ ก็หวังถึงชีวิตแบบนั้นใช่ไหม แต่ F.I.R.E ยังไงก็คือไฟ การเล่นกับไฟโดยไม่ระมัดระวัง อย่างการเกษียณเร็วไป ก็อาจจะมีผลเสียตามมาได้เหมือนกัน

ในบทความนี้ ผมจะขออนุญาตชวนท่านผู้อ่าน First jobber ที่ต้องการมีอิสรภาพทางการเงินอย่างรวดเร็ว ให้ใจเย็น พักจิบน้ำ ทำให้เปลวเพลิงเบาลงหน่อย มาสำรวจความเป็นไปได้ถึงปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่ต้องการจะเกษียณเร็ว

โดยหวังว่าทุกท่านจะสามารถนำประเด็นที่ยกมาทั้ง 4 ข้อนี้ ไปใช้วางแผนของตัวเองให้รัดกุมและรอบคอบยิ่งขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจเกษียณเร็วกัน

ระยะเวลาเตรียมตัวสั้นส่งผลให้การเตรียมตัวยิ่งยาก

ยิ่งวางแผนจะเกษียณเร็วขึ้นเท่าใด ก็จะทำให้เรามีเวลาในการเก็บเงินหรือเตรียมทรัพย์สินเพื่อการเกษียณน้อย อีกทั้งยังเป็นการเตรียมสำหรับระยะเวลาที่มาก ซึ่งการที่จะทำให้สำเร็จได้ จึงมักเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องตัดสินใจใน 2 แนวทางต่อไปนี้

ทางแรกต้องเก็บเงินต่อปีมากยิ่งขึ้น ทั้งโดยการลดรายจ่าย ซึ่งอาจกระทบกับคุณภาพของชีวิตในปัจจุบัน และ การเพิ่มรายได้ ที่ต้องทุ่มเททั้งกำลัง สติปัญญา ทรัพยากร และเวลา ซึ่งหากจัดการได้ไม่ดี อาจทำให้เสียสมดุลในชีวิตมากจนเกินไป จนกระทบทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หรือหากเก็บเงินเพิ่มไม่ได้ ต้องไปในทางที่สอง ต้องเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจทำให้ต้องรับความเสี่ยงจากการลงทุนมากจนเกินไป หรือพลาดไปลงทุนที่ไม่เหมาะสมจนต้องสูญเสียเงินมากมายเป็นต้น

เตรียมค่าใช้จ่ายหลังเกษียณไว้ไม่เหมาะสม

ซึ่งต้นเหตุที่ทำให้การคำนวณผิด หรือคลาดเคลื่อนนั้นมีได้หลายทาง ยกตัวอย่าง ลืมคำนวณเงินเฟ้อระยะยาวหลังเกษียณ รูปแบบการใช้ชีวิตในช่วงก่อนหรือหลังเกษียณมีความแตกต่างกันมาก ทำให้ตกหล่นค่าใช้จ่ายสำคัญบางอย่าง

ช่วงเกษียณแรก ๆ สุขภาพร่างกายตัวเองและครอบครัวยังแข็งแรงดี แต่พอผ่านไป 10-20 ปี คุณพ่อคุณแม่เริ่มมีปัญหาเรื่องสุขภาพมากขึ้น หรือ เทคโนโลยีทางการเแพทย์ที่ก้าวหน้า ส่งผลให้อายุขัยที่อยู่จริงยาวนานกว่าที่ได้วางแผนเตรียมไว้

ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่อมาประกอบกับระยะเวลาหลังเกษียณที่ยาวนาน ส่งผลให้โอกาสที่จะคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับการเกษียณผิดพลาดยิ่งมากขึ้นไปอีก

ความเปลี่ยนแปลงยังเกิดขึ้นต่อเนื่องและควบคุมไม่ได้ ส่งผลต่อแหล่งเงินเกษียณ

ในปัจจุบันโลกหมุนเร็วมาก สิ่งที่เคยดีไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ หุ้นปันผลชั้นเลิศ หรือ คริปโตเคอร์เรนซี สินทรัพย์การเงินต่าง ๆ ที่เคยสร้างฐานะ สร้างความมั่นใจในการเกษียณเร็วของเรา ก็อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ ถ้าเราไม่ติดตามควบคุมดูแลมันอย่างต่อเนื่อง

สินทรัพย์ลงทุนที่หวังไว้ว่าจะเป็น Passive Income หลังเกษียณ จากที่เคยทำได้ดี อาจจะไม่ดีเหมือนอย่างเคย เช่น อัตราดอกเบี้ย หรือ อัตราเงินปันผล ที่เคยคาดการณ์ไว้สูง ก็อาจจะลดต่ำลง จนไม่เพียงพอ และวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็อาจเกิดขึ้นถี่กว่าเดิม

หรือการเกษียณเร็ว อาจหมายถึงการที่เราต้องวางมือจากสิ่งที่เราเคยทำ เช่น จากธุรกิจที่เราเคยเป็นเจ้าของ และเป็นคนสำคัญในการบริหารจัดการ หากหาตัวแทนที่มารับไม้ต่อดำเนินการต่อไม่ได้ ธุรกิจที่เราถือหุ้นอยู่ก็อาจทำให้ธุรกิจถดถอย

ขณะเดียวกันตัวธุรกิจเองก็อาจถูก Disrupt โดยธุรกิจใหม่ ๆ จนไม่สามารถอยู่รอด เพื่อเป็นแหล่งรายได้ให้กับเราได้ในระยะยาว อย่างที่เราวางแผนไว้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังเกษียณหากรับมือไม่ได้อย่างเหมาะสม อาจจะส่งผลให้แผนเกษียณเกิดปัญหาได้

สภาวะจิตใจหลังเกษียณเร็ว

เมื่อตัดสินใจเกษียณเร็วแล้ว งานที่เราเคยเป็นคนสำคัญ กิจกรรมที่เคยได้ทำ สังคมที่เคยได้พบเจอก่อนเกษียณนั้น หลาย ๆ อย่างจะหายไป ซึ่งอาจจะส่งผลในแง่ลบต่อจิตใจของเราได้ เพราะเวลาว่างที่เคยไขว่คว้าอยากได้มา แต่เมื่อมีมากเกินไป จนเหมือนไม่ได้ทำประโยชน์อะไร ก็อาจจะกระทบความภาคภูมิใจหรือคุณค่าในตนเอง

กิจกรรมที่อยากทำมาตลอด เมื่อได้ทำบ่อยครั้งเข้า ก็อาจกลายเป็นกิจกรรมที่น่าเบื่อไปได้ คนคุ้นเคยที่คุยกันถูกคอ ตอนนี้จะหาคนที่ว่างตรงกันก็ยาก เพราะคนอื่นยังคงทำงานอยู่ และแม้จะได้พบกัน เรื่องที่พูดคุยก็จะเริ่มห่างกันไปทุกที เพราะวิถีชีวิตก็แตกต่างกันมากขึ้น เราสามารถจัดการสภาวะจิตใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือไม่

จากทั้ง 4 ประเด็น ที่ได้กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่ายิ่งวางแผนการเกษียณเร็วมากก็มีโอกาสที่จะตามมาด้วยปัญหาหลาย ๆ อย่าง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายว่าเป้าหมายเกษียณเร็วนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำนะครับ เพราะหากเราสามารถจัดการกับประเด็นความเสี่ยงและปัญหาต่าง ๆ ได้

รวมทั้งเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้ว่า การเกษียณเร็ว เป็นสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ เพราะการเกษียณเร็วนั้น อาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคน เพราะความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ คือการมีชีวิตที่มีความสุข

“เราอาจไม่จำเป็นต้องเอาคำว่าเกษียณเร็ว มาเป็นเงื่อนไขเพื่อจะมีความสุขนั้น เราสามารถมีความสุขได้ทั้งในวันนี้ตอนก่อนเกษียณ และความสุขในวันหน้าตอนหลังเกษียณ เพียงแค่จัดสรรให้อย่างเหมาะสมครับ”

หากเรามีความทุกข์จากการทำงาน หรือไม่ชอบสภาวะชีวิตปัจจุบัน อาจจะเลือกไปในหนทางที่ยังทำงานอยู่ แต่เราเลือกได้ว่าจะทำงานอะไร เช่น งานที่อยากทำจริง ๆ เลือกทำเพราะมีความสุขกับมัน หรือ งานที่มีเวลาว่างมากขึ้น แม้งานที่เลือกอาจมีรายได้น้อยลง แต่ก็เป็นงานเลี้ยงจิตใจ อาจไม่มีเงินพอจะซื้อได้ทุกอย่าง แต่ก็ไม่ได้ขาดแคลน

เลือกใช้จ่ายอย่างประหยัดได้ เราอาจไม่ได้มีเวลาว่างในทุก ๆ วัน ตลอดทั้งวัน แต่ก็พอจะจัดสรรเวลาได้ หากต้องทำอะไรที่อยากทำ หรือต้องแบ่งเวลาให้กับใครที่เป็นคนสำคัญ การจัดสรรชีวิตให้เหมาะสมตามจังหวะของตัวเอง น่าจะเป็นคำตอบที่ใช่สำหรับใครหลาย ๆ คนมากกว่าการเกษียณอย่างรีบร้อน ที่ต้องตัดทอนความสุขในปัจจุบัน กดดันตัวเองอย่างมาก เพื่อความสุขที่ใฝ่ฝันในอนาคตที่ก็เป็นได้ครับ

สุดท้ายไม่ว่าท่านผู้อ่านจะเลือกแผนเกษียณแบบใดก็ตาม จะรีบมุ่งมั่นเพื่ออิสรภาพทางการเงินในระยะเวลาอันสั้น หรือ ค่อย ๆ สะสมเงินเพื่อความสุขในวัยชรา ผมก็หวังว่าทุกท่านจะมองทุกด้านอย่างรอบคอบ วางแผนรับมืออย่างเหมาะสม และลงมือทำตามเป้าหมายที่วางไว้ จนประสบความสำเร็จได้ดั่งใจนะครับ