พึงระวัง “ทุกขลาภ” มรดก รู้จักวางแผนภาษีส่งต่อทรัพย์สินให้กับทายาท

บทความโดย "ปีย์วรงค์ เชี่ยววณิชชา" 
นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

วันที่ 24 ตุลาคม 2566 แม้ว่าการพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัว จะนำมาซึ่งความเศร้าโศก แต่บางครั้งการได้รับมรดกจากผู้ล่วงลับ อาจสร้างความทุกข์ใจได้ จึงควรศึกษาข้อกฎหมาย เพื่อเตรียมส่งต่อทรัพย์สินให้กับทายาทหรือผู้สืบสันดานไปพร้อมกับความสุขและความสบายใจ

มรดก อ้างอิงความหมายตามมาตรา 1599-1600 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายถึง “ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ด้วย ซึ่งทายาทของผู้ตายต้องรับสืบทอดหนี้สินของผู้ตายไปพร้อมกับทรัพย์สิน เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”

ซึ่งสามารถเป็นทรัพย์สินในรูปแบบใดก็ได้ เช่น เงินฝาก หลักทรัพย์ ยานพาหนะ อสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา

ในพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า “ผู้รับมรดกมีหน้าที่เสียภาษีหากได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละรายหักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดกนั้น ในส่วนที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ในอัตราสูงสุดร้อยละ 10 ของมูลค่ามรดกในส่วนที่ต้องเสียภาษี

แต่ถ้าผู้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 และได้รับยกเว้นภาษีมรดกสำหรับคู่สมรสจดทะเบียนตามกฎหมาย โดยผู้รับมรดกจะต้องชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันที่ได้รับมรดก

และสามารถเลือกผ่อนจ่ายได้สูงสุด 5 ปี โดยมีภาระเงินเพิ่มร้อยละ 0.5 ต่อเดือน สำหรับการผ่อนตั้งแต่ปีที่ 3 ขึ้นไป หากไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ หรือหากยื่นแบบแสดงรายการไม่ครบถ้วน ให้เสียเบี้ยปรับอีก 0.5 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ”

ตัวอย่าง ทายาทได้รับมรดกเป็นเงินสดมูลค่า 200 ล้านบาท จะคิดเป็นภาษีที่ต้องชำระในอัตราสูงสุด 5 ล้านบาท ภายใน 150 วัน หรือผ่อนจ่ายได้สูงสุด 5 ปี พร้อมเงินเพิ่มประมาณ 1.5 ล้านบาท หากไม่สามารถชำระภาษีทั้งหมดได้ใน 2 ปีแรก

และหากไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กำหนด จะเสียเบี้ยปรับ 5 ล้านบาท หรือหากยื่นแบบแสดงรายการไม่ครบถ้วน จะเสียเบี้ยปรับอีก 2.5 ล้านบาท ซึ่งกรณีนี้นับว่าโชคดีที่ได้รับมาเป็นเงินสด สามารถนำเงินสดที่เป็นมรดกนั้นไปชำระภาษีได้ทันที แต่ทายาทก็จะไม่ได้รับมรดกเท่ากับที่เจ้ามรดกได้ตั้งใจส่งต่อไว้ให้แต่แรก

หากผู้รับมรดกไม่ได้เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน แต่เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรม ได้รับเป็นบ้านและที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงแต่แปลงเป็นเงินสดได้ยาก เช่น ที่ดินราคาประเมิน 200 ล้านบาท เพียงอย่างเดียว ผู้รับมรดกจะต้องมีภาระนำเงินสดจำนวน 10 ล้านบาท มาชำระภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ได้รับมรดก

ไม่รวมถึงค่าธรรมเนียมการโอนร้อยละ 2 ของราคาประเมิน หรือ 4 ล้านบาท ซึ่งผู้รับมรดกอาจจะไม่ได้มีเงินสดมากพอ หรือเป็นไปได้ยากที่จะสามารถขายที่ดินดังกล่าว เพื่อแปลงเป็นเงินสดมาชำระภาษีได้ทันก่อนมีเบี้ยปรับตามเวลาที่กฎหมายกำหนด

ดังนั้น หากเจ้ามรดกไม่อยากให้ทรัพย์มรดกของตนเป็นทุกขลาภแก่บุพการี ทายาทผู้สืบสันดาน หรือผู้รับพินัยกรรม ควรวางแผนการจัดการทรัพย์สิน ดังนี้

ผ่องถ่ายทรัพย์สินบางอย่างให้ทายาท

1. เจ้ามรดกควรพิจารณาผ่องถ่ายทรัพย์สินบางอย่างให้กับทายาท โดยอาศัยข้อกำหนดในมาตรา 48 เรื่องภาษีการรับให้ว่า “บุพการีสามารถยกหรือโอนทรัพย์สินของตนให้กับผู้สืบสันดานได้ โดยผู้สืบสันดานนั้นจะได้รับการยกเว้นภาษีการรับให้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี

หากมีมูลค่าเกินกว่านั้น ผู้สืบสันดานต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5” เพราะฉะนั้นก่อนเสียชีวิต บุพการีที่ตั้งใจจะยกที่ดินราคาประเมิน 200 ล้านบาท ให้กับทายาทคนหนึ่ง สามารถจัดสรรที่ดินออกเป็นแปลงย่อย แล้วทยอยโอนให้กับทายาทที่ตั้งใจไว้

โดยมีมูลค่ารวมไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี จนกว่าที่ดินผืนดังกล่าวจะเหลือมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาท จึงทิ้งไว้เป็นมรดกได้ พร้อมดูแลค่าธรรมเนียมการโอนในอัตราร้อยละ 0.5 ในแต่ละครั้งให้กับทายาทด้วย

สำหรับเจ้ามรดกที่มีทรัพย์สินมากกว่า 100 ล้านบาท และต้องการมอบให้กับผู้รับมรดกตามพินัยกรรม สมควรอย่างยิ่งที่จะวางแผนผ่องถ่ายทรัพย์สินต่าง ๆ ให้เหลือมูลค่าเป็นมรดกน้อยกว่า 100 ล้านบาท เพื่อไม่ให้เสียภาษีมรดกร้อยละ 10

ในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทนั้น โดยในการโอนทรัพย์สิน เจ้ามรดกต้องพึงระวังว่า การให้โดยเสน่หากับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บุพการี ทายาทหรือผู้สืบสันดาน จะได้รับยกเว้นภาษีการรับให้ในส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี ถ้าเกินกว่านั้นจะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5  ซึ่งก็ยังน้อยกว่าอัตราภาษีมรดกในกรณีนี้อยู่ดี

ทำพินัยกรรมโดยละเอียดถี่ถ้วน

2. เจ้ามรดก ควรพิจารณาทำพินัยกรรมโดยละเอียดถี่ถ้วน หากตั้งใจมอบทรัพย์สินมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท ให้กับผู้รับมรดกรายใดรายหนึ่ง ควรเพิ่มมรดกในส่วนที่เป็นเงินสดอีกร้อยละ 5-10 ของมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อเพิ่มเงินสดสภาพคล่องให้ผู้รับมรดกใช้เสียภาษีและเสียค่าธรรมเนียมดำเนินการต่าง ๆ

เป็นการลดภาระของผู้รับมรดกในอนาคตได้ หรือหากเจ้ามรดกไม่ได้เตรียมเงินสดไว้ตั้งแต่แรก การทำประกันชีวิต แล้วกำหนดทุนชีวิตให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ผู้รับมรดกที่ได้ถูกระบุชื่อเป็นผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์ จะได้รับเงินค่าสินไหมมรณกรรมโดยตรงทันทีที่เจ้ามรดกผู้เอาประกันเสียชีวิต ก็จะสามารถประหยัดเงินมรดกที่ต้องเตรียมล่วงหน้าไว้ได้

ดังจะเห็นได้ว่า เจ้ามรดกที่มีทรัพย์สินมาก อาจสร้างปัญหาให้กับผู้รับมรดกในอนาคตได้ หากไม่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายภาษีมรดกและการรับให้ รวมถึงหากไม่มีการทำพินัยกรรมที่ละเอียดถี่ถ้วนรองรับไว้ด้วย

ดังนั้น เพื่อให้ผู้เป็นที่รักได้ส่งต่อทรัพย์สินตามที่ตั้งใจและมีความสงบสุขในสัมปรายภพ การวางแผนภาษีและมรดก เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาจัดทำขึ้นร่วมกับทนายวิชาชีพ หรือที่ปรึกษาการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิจากสมาคมนักวางแผนการเงินก่อนที่จะสายเกินไป